Your browser doesn’t support HTML5
หลังเกาหลีเหนือระเบิดศูนย์ประสานงาน 2 เกาหลี รัฐบาลกรุงเปียงยางเดินหน้าเพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อรัฐบาลกรุงโซลทันที และรายงานข่าว ซึ่งอ้างข้อมูลจากสำนักข่าวกลางเกาหลี KCNA ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลกรุงเปียงยาง ระบุว่า ในวันพุธตามเวลาท้องถิ่น กองทัพเกาหลีเหนือได้เคลื่อนพลประชิดพื้นที่รีสอร์ทแถบภูเขากัมกัง และนิคมอุตสาหกรรมเกซอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานร่วมที่เพิ่งถูกทำลายไปนั่นเอง
KCNA รายงานด้วยว่า เกาหลีเหนือกำลังเตรียมส่งกำลังทหารไปประจำการที่พื้นที่ดังกล่าวซึ่งถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่เดือนมกราคม เพราะการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยมีจุดประสงค์ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของมาตรการอารักขาพรมแดน รวมทั้งวางแผนกลับมาดำเนินโปรแกรมฝึกภาคสนามของทหารในพื้นที่ใกล้ๆ กับพรมแดนทางทะเลที่ติดกับเกาหลีใต้ด้วย
ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกรุงเปียงยางไม่สนใจที่จะมุ่งต่อยอดความคืบหน้าด้านการฟื้นฟูความสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีสัญญาณบวกมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 หลังผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ได้พบกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือแสดงความไม่พอใจเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง ด้วยประเด็นที่ว่า รัฐบาลกรุงโซลไม่พยายามหยุดยั้งชาวเกาหลีเหนือที่หนีออกนอกประเทศสำเร็จและนักเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ให้ส่งใบปลิวและข้อความโจมตีกรุงเปียงยางข้ามพรมแดน พร้อมขู่ตัดช่องทางสื่อสารเจรจาต่างๆ ระหว่างสองประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกาหลีเหนือกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่มีการคาดไว้ก่อนแล้ว โดยดูจากรูปแบบวัฏจักรการดำเนินนโยบายของกรุงเปียงยางที่มักทำการยั่วยุหลากวิธีเป็นระยะๆ เพื่อหวังผลเรียกแรงสนับสนุนของคนในประเทศและกดดันให้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยอมให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ตน
ขณะที่ KCNA รายงานว่า การทำลายศูนย์ประสานงานร่วมเกาหลี คือ “ก้าวแรก” ของการดำเนินมาตรการอื่นๆ ที่จะขึ้นอยู่กับการตอบโต้ของเกาหลีใต้หลังจากนี้ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับสารทางการจาก คิม จอง อึน ที่ปฏิเสธข้อเสนอของเกาหลีใต้ที่จะส่งทูตพิเศษเข้าเจรจาแล้ว โดยผู้นำเกาหลีเหนือเรียกข้อเสนอดังกล่าวว่า “ไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง” “ไม่ถูกกาลเทศะ” “มีความมุ่งร้าย” “สุกเอาเผากิน" “น่าขัน” และ “ขาดความเคารพ” ขณะที่รายงานจาก KCNA อีกชิ้น พยายามส่งสารขู่ว่า เกาหลีเหนืออาจกลับมาดำเนินแผนคุกคามที่จะทำให้กรุงโซล “ลุกเป็นไฟ” ซึ่งเป็นสัญญาณที่กรุงเปียงยางมักส่งออกมาทุกครั้งที่มีปฏิบัติการยั่วยุเช่นในปัจจุบัน
เกาหลีเหนืออาจกลับมาดำเนินแผนคุกคามที่จะทำให้กรุงโซล ลุกเป็นไฟKCNA
ทางด้านเกาหลีใต้ มีการตอบโต้เหตุที่เกิดขึ้นแล้ว โดยโฆษกประธานาธิบดีเกาหลีใต้เรียก คำขู่และความเห็นของคิม โย จอง ผู้เป็นน้องสาวของ คิม จอง อึน ที่มีออกมาเร็วๆ นี้ ว่าเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” และเป็นการทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้นำเกาหลีทั้งสองต้องสั่นคลอน พร้อมเตือนว่า เกาหลีใต้จะไม่อดทนฟังคำพูดและการกระทำที่ไร้เหตุผลทั้งหลายด้วย
นอกจากนั้น ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยังแสดงความไม่พอใจที่เกาหลีเหนือเปิดเผยต่อสาธารณะ เรื่องขอเสนอส่งทูตพิเศษไปเจรจา โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้รายหนึ่ง เรียกเหตุดังกล่าวว่าเป็น “ความเหลวไหลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ขณะที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ยังเตือนเกาหลีเหนือว่าให้เตรียมรับผลกรรมของตน หากยังดำเนินการยั่วยุทางทหารต่อไป
ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีนั้นเป็นเรื่องที่มีการยกระดับและคลี่คลายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยฝ่ายเกาหลีเหนือนั้นเป็นผู้เริ่มทำการยั่วยุด้วยการใช้กำลังทางทหารก่อนตลอดเวลา ดังเช่น เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2010 ที่เกาหลีเหนือยิงจรวดตอร์ปิโดใส่เรือรบเกาหลีใต้ที่ลอยลำอยู่แถบชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ส่งผลให้ลูกเรือ 46 เสียชีวิตและเรือจมลง และอีกไม่กี่เดือนต่อมา เกาหลีเหนือทำการยิงถล่มเกาะยอนพยองซึ่งเป็นเหมือนด่านพรมแดนระหว่างสองประเทศ ทำให้มีผู้คนมากมายเสียชีวิตลง
แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ล่าสุดแล้ว ทูยอน คิม ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและนโยบายด้านนิวเคลียร์ ของ International Crisis Group ให้ความเห็นว่า เกาหลีเหนือดำเนินแผนผิดจากวิสัยปกติ เพราะไม่ได้พยายามโจมตีเกาหลีใต้ หรือพยายามยั่วยุให้เกาหลีใต้ใช้กำลังทหารตอบโต้ดังเช่นในครั้งก่อนๆ และแม้จะมีการคาดการณ์กันว่า เกาหลีเหนือจะลงมือทำการอื่นๆ ต่อจากนี้ ก็ยังไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทหารเกาหลีใต้ต้องออกมาลงมืออยู่ดี
แดเนียล รัสเซล อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ประจำเอเชียตะวันออก ให้ความเห็นด้วยว่า การระเบิดศูนย์ประสานงานร่วมนั้นเป็นเหมือนสารที่ คิม จอง อึน ต้องการส่งออกมาว่า เกาหลีเหนือไม่สนใจความพยายามของประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ที่ต้องการกระชับมิตรระหว่างสองประเทศเลย ทั้งยังเป็นการเตือนสหรัฐฯ ว่า ไม่มีสิทธิ์ลืมเกาหลีเหนือเป็นอันขาด และหากเกาหลีเหนือจะทำการยั่วยุใดๆ ต่อจากนี้ ก็น่าจะเป็นความต้องการของ คิม จอง อึน ที่จะเตือนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้อย่าลืมข้อตกลงผ่อนคลายการคว่ำบาตร มิฉะนั้น คำประกาศของผู้นำสหรัฐฯ ว่า ได้ยุติภัยคุกคามของเกาหลีเหนือไปแล้ว จะกลายเป็นอดีตไปทันที
นักวิเคราะห์บางรายเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวว่า สิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการในเวลานี้คือการส่งแรงกดดันไปยังสหรัฐฯ หลังความพยายามของทั้งสองประเทศที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่ปธน.ทรัมป์ และ คิม จอง อึน ได้พูดคุยระหว่างการพบกันถึง 3 ครั้ง หยุดชะงักไปเพราะทั้งสองฝ่ายยังตกลงเงื่อนไขกันไม่ได้
จนถึงบัดนี้ ปธน.ทรัมป์ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความสนใจเรื่องของเกาหลีเหนือมากกว่า การเตรียมการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้เลย