ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า คำปราศรัยอันดุเดือดของผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือสัญญาณว่าเกาหลีเหนือกำลังจะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่เร็ว ๆ นี้ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ เตรียมร่วมซ้อมรบแบบเต็มรูปแบบกับเกาหลีใต้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เมื่อวันพุธที่แล้ว ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน กล่าวปราศรัยเนื่องในโอกาสครบรอบ 69 ปีการจัดทำสนธิสัญญาสงบศึกที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเกาหลี โดยในช่วงหนึ่ง ผู้นำคิมกล่าวว่า คลังอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ "พร้อมอย่างเต็มที่" ในการแสดงแสนยานุภาพที่แท้จริงเพื่อภารกิจสำคัญ
คิม จอง อึน กล่าวหาสหรัฐฯ ว่า "ยุยงปลุกปั่น" เกาหลีใต้ และร่วมจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ พร้อมยืนยันว่าการซ้อมรบครั้งนี้กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ "ถึงจุดที่ปะทะกันอย่างรุนแรง"
คำกล่าวของผู้นำคิมมีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ประเมินว่าเกาหลีเหนือได้เตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 สำเร็จแล้ว
ความร่วมมือทางทหารระหว่างกรุงวอชิงตันกับกรุงโซลเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าการซ้อมรบครั้งใหญ่ร่วมกันนี้จะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หลังจากที่ถูกยกเลิกหรือลดขนาดลงในช่วงรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีมูน แจ-อิน แห่งเกาหลีใต้ ผู้ซึ่งสนับสนุนแนวทางการเจรจาอย่างสันติกับกรุงเปียงยาง
แกรี ซามอร์ อดีตผู้ประสานงานด้านการควบคุมอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า "ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ" ที่เกาหลีเหนือใช้วิธีข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ แต่เชื่อว่าการที่ผู้นำคิมออกมากล่าวถึงนิวเคลียร์ในครั้งนี้ "เพราะว่าได้เตรียมการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 ไว้แล้ว และอาจใช้วิธีกล่าวหาการซ้อมรบของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งคุกคามความมั่นคงต่อเกาหลีเหนือ" เป้าหมายเพื่อหาข้ออ้างสนับสนุนการตัดสินใจทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า การซ้อมรบร่วมกันอย่างเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 1 กันยายนนี้ โดยจะรวมถึงการรบในสมรภูมิจำลอง การรับมือการโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก
บรูซ คลิงเนอร์ นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบัน Heritage Foundation กล่าวว่า การที่ผู้นำคิมออกมาวิจารณ์การซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ว่าสั่นคลอนความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลีนั้น เป็นวิธีที่นำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือคือฝ่ายที่ถูกกระทำ มากกว่าจะเป็นฝ่ายที่ละเมิดมติของสหประชาชาติด้วยการทดสอบนิวเคลียร์
ขณะที่ แกรี ซามอร์ เชื่อว่า คำกล่าวหาของผู้นำคิมครั้งนี้อาจทำให้จีนและรัสเซียมีท่าทีต่อต้านหากสหประชาชาติจะเพิ่มมาตรการลงโทษต่อเกาหลีเหนือที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
ในการกล่าวปราศรัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คิม จอง อึน ยังเตือนด้วยว่า กองทัพเกาหลีเหนือเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐฯ และยังระบุชื่อประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ยูน ซุก ยอล เป็นครั้งแรกด้วยว่า "เป็นผู้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศรุนแรงขึ้น"
เอวานส์ เรฟเวียร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีประสบการณ์เรื่องการเจรจากับเกาหลีเหนือ ชี้ว่า การที่ผู้นำคิมกล่าวโจมตีปธน.ยูน โดยตรง ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า "ปฏิเสธนโยบายเกาหลีเหนือของปธน.ยูน" ซึ่งรวมถึงการเสนอความช่วยเหลือให้แก่กรุงเปียงยาง การช่วยเกาหลีเหนือพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน แลกกับการยุติโครงการนิวเคลียร์
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า เปียงยางจำเป็นต้องตอบโต้ต่อท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดใหม่ รวมทั้ง "ยุทธศาสตร์ทำลายห่วงโซ่นิวเคลียร์" ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อราว 10 ปีก่อนโดยมีเป้าหมายขัดขวางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงการโจมตีเครือข่ายขีปนาวุธ สถานที่สำคัญและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรุงเปียงยางหากจำเป็น
โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารเกาหลีใต้ได้พบเจรจากับปธน.ยูน เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บัญชาการยุทธศาสตร์ทำลายห่วงโซ่นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือภายในปีค.ศ. 2024
ด้าน แฮร์รี คาซิอานิส ประธานของ Rogue States Project เห็นด้วยว่า คำปราศรัยเชิงข่มขู่ของผู้นำคิมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปียงยางพร้อมต่อต้านนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดใหม่ที่ต้องการเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับอเมริกา และพร้อมเผชิญหน้ากับความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ซึ่งอาจหมายถึงการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์มากขึ้นต่อจากนี้
- ที่มา: วีโอเอ