Your browser doesn’t support HTML5
วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคมนี้จะเป็นโอกาสครบรอบสิบปีซึ่งนายคิม จอง อึนขึ้นครองอำนาจในเกาหลีเหนือหลังจากที่นายคิม จอง อิล ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน และหลังจากที่สามารถรวบรวมและสร้างฐานอำนาจได้สำเร็จซึ่งเป็นผลให้มีผู้ถูกกวาดล้าง ประหารชีวิตและปลดจากตำแหน่งนับร้อยคน
นักวิเคราะห์ชี้ว่านายคิม จอง อึน กำลังมาถึงจุดวิกฤติที่สำคัญ คือจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันตามคำมั่นสัญญา หรือการเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมและปกครองประเทศในระยะยาว
ในฐานะผู้นำซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนรุ่น millennial คนแรกของเกาหลีเหนือ นายคิม จอง อึน กำลังมีปัญหาต่างๆที่รุมเร้าและรอการแก้ไขอยู่หลายด้านด้วยกัน นับตั้งแต่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ ปัญหาโรคระบาดใหญ่ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าหากนายคิม จอง อึน ไม่สามารถทำได้ตามคำมั่นสัญญาเรื่องการพัฒนาทั้งอาวุธนิวเคลียร์และการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยกันแล้ว ความล้มเหลวดังกล่าวก็จะสร้างปัญหาสำหรับโอกาสของการจะมีอำนาจปกครองเกาหลีเหนือต่อไปในระยะยาวได้
ตั้งแต่ปี 2016 ประชาคมระหว่างประเทศได้เพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือหลังจากที่นายคิม จอง อึน เร่งความพยายามผลิตขีปนาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งมุ่งเป้าและมีรัศมีทำการครอบคลุมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย และหลังจากที่มีโอกาสและเป็นที่สนใจระดับโลกด้วยการพบปะแบบทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ในปี 2018 กับ 2019 แต่ไม่สามารถทำให้ได้รับการผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการแล้ว
ขณะนี้นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือก็ต้องเผชิญกับปัญหาภายในที่รุมเร้าต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจที่ทรุดหนักลงรวมทั้งจากการปิดพรมแดนค้าขายกับจีนอันเป็นผลมาจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีไบเดนนั้นก็ไม่ได้มีความเร่งรีบที่จะทำข้อตกลงใดๆ กับนายคิม จอง อึน นอกเสียจากว่าผู้นำเกาหลีเหนือจะแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดและยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งก็เปรียบเสมือนดาบหรืออาวุธสำคัญที่นายคิม จอง อึน เชื่อว่าจะช่วยรับประกันความอยู่รอดของตนได้นั่นเอง
ในช่วงต้นปี 2012 นายคิม จอง อึน ได้ประกาศเป้าหมายเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนอย่างอาจารย์ Park Won Gon ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือของมหาวิทยาลัย Ewha Womans University ในกรุงโซลกล่าวว่าประเด็นเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องเสถียรภาพความมั่นคงของระบอบการปกครองในเกาหลีเหนือภายใต้การนำของนายคิม จอง อึน นั้นล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งหากประเด็นเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้รับการขบแก้แล้วก็คงเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือจะดีขึ้น และนั่นก็หมายถึงว่ามีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดปัญหาความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและความไม่สงบในสังคมเกาหลีเหนือขึ้นได้
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งคืออาจารย์ Andrei Lankov ของมหาวิทยาลัย Kookmin University ในกรุงโซลกลับมองว่าเกาหลีเหนือจะไม่มีทางยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ดังนั้นประเด็นเดียวซึ่งเกาหลีเหนืออยากจะหารือจะไม่ใช่เรื่องการลดหรือปลดอาวุธนิวเคลียร์แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรการเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า
อาจารย์ Andrei Lankov ยังเชื่อด้วยว่าเกาหลีเหนืออาจได้รับประโยชน์จากการประจัญหน้ากันระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในขณะนี้เพราะเรื่องนี้เป็นการช่วยสร้างคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือสำหรับจีน และในทางกลับกันจีนก็พร้อมจะช่วยให้เกาหลีเหนือรอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิดไปได้ด้วยการสนับสนุนด้านอาหาร เชื้อเพลิง และความช่วยเหลือด้านอื่น ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันให้นายคิม จอง อึน ไม่ต้องรีบกลับคืนสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ ด้วย
ส่วนนักวิเคราะห์ด้านเกาหลีเหนืออีกคนคือนาย Go Myong-hyun จากสถาบัน Asan Institute for Policy Studies ในกรุงโซลก็มองว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ได้สร้างปัญหายุ่งยากและทำให้นายคิม จอง อึนเดินมาถึงจุดนี้
นอกจากนั้นผู้นำเกาหลีเหนือเองก็ได้ใช้นโยบายที่ขัดแย้งกันเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อพยายามเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามนาย Go Myong-hyun เชื่อว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของต่างประเทศซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำนั้นจะยังคงดำเนินต่อไป และการหวนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจแบบควบคุมวางแผนจากส่วนกลางก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับปัญหาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วนายคิม จอง อึน ก็จะต้องตัดสินใจระหว่างทางเลือกที่ยากลำบากว่าจะยังพยายามผลักดันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งอาจต้องแลกกับความล่มสลายทางเศรษฐกิจรวมทั้งการสูญเสียอำนาจการควบคุมได้ และเวลาสำหรับคำตอบเรื่องนี้ก็คงจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
ที่มา: AP