คณะกรรมการ ‘โนเบล’ จะเริ่มประกาศผู้ได้รับรางวัลท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ

A national library employee shows the gold Nobel Prize medal awarded to the late novelist Gabriel Garcia Marquez, in Bogota, Colombia, April 17, 2015.

A national library employee shows the gold Nobel Prize medal awarded to the late novelist Gabriel Garcia Marquez, in Bogota, Colombia, April 17, 2015.

ในวันจันทร์ คณะกรรมการรางวัลโนเบลจะเริ่มประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้ เริ่มด้วยสาขาการแพทย์

Your browser doesn’t support HTML5

คณะกรรมการ ‘โนเบล’ จะเริ่มประกาศผู้ได้รับรางวัลท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ

ท่ามการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วโลก ประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับโนเบลด้วย

ตั้งแต่เริ่มมีการแจกโนเบลสาขาต่างๆ เมื่อ 117 ปีก่อนมีผู้ได้รับรางวัล 892 คน แต่มีเพียง 48 รายที่เป็นสตรี ในจำนวนสตรีเหล่านี้ สาขาที่พวกเธอได้รับกระจุกตัวอยู่ในรางวัลด้านวรรณกรรมและสันติภาพ

นั่นหมายความว่ายังมีช่องว่างทางเพศอย่างมากในสาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ และเศรษฐศาสตร์

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันนี้ดูเหมือนว่าจะหยั่งรากลึกอยู่ในวงการวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนน้อยในวงการดังกล่าว

สถาบันด้านฟิสิกส์ American Institute of Physics กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 2014 สัดส่วนสตรีที่มีตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ คิดเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านนี้ทั้งหมด

งานด้านฟิสิกส์ ที่สตรีได้รับการยอมรับระดับรางวัลโนเบลครั้งแรกเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของฝ่ายชาย กล่าวคือ เมื่อ 115 ปีก่อน Pierre Curie นักฟิสิกส์ ยืนยันว่า ภรรยาของเขา Marie Currie ผู้ร่วมทำวิจัย จะต้องได้รับรางวัลคู่กับตน และเธอจึงได้กลายเป็นสตรีคนแรกที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

แม้ครั้งนั้นจะดูเหมือนเป็นการเบิกทางให้สตรีในวงการฟิสิกส์ แต่จากนั้น มีผู้หญิงอีกเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้รางวัลทรงเกียรตินี้ เช่นเดียวกับ Marie Currie

และเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี สตรีที่มีชื่อว่า Jocelyn Bell จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่อังกฤษ ทำงานวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ความทุ่มเทของเธอถูกมองข้าม และรางวัลโนเบลกลับถูกมอบให้ Antony Hewish ที่เป็นหัวหน้าของเธอแทน

เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้มีคนเห็นว่า ผู้พิจารณารางวัลโนเบลควรมอบรางวัลย้อนหลังแก่บุคคลที่เคยถูกมองข้าม

หนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยในเรื่องนี้คือ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ Brian Keating จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขต San Diego เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Losing the Nobel Prize: A Story of Cosmology, Ambition and the Perils of Science’s Highest Honor

เขากล่าวว่า หากทำได้ แนวทางนี้จะช่วยแก้ไขความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น กับสตรีที่สร้างคุณูปการแก่วงการวิทยาศาสตร์ในอดีต แต่ไม่ได้รับการยกย่องให้สมกับผลงานของพวกเธอ

ท่ามกลางคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ Goran Hansson เลขาธิการคณะกรรมการ the Royal Swedish Academy of Sciences ผู้พิจารณารางวัลโนเบล และรองประธานมูลนิธิ Nobel Foundation กล่าวว่า ผู้เสนอชื่อบุคคลที่ควรได้รับรางวัลจะต้องตอบคำถามว่าการเสนอชื่อนั้นมีปัจจัยใดบ้างที่อาจทำให้เกิดความโอนเอียงทางทัศนคติ

เขากล่าวว่า เขาเองก็อยากเห็นสตรีที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลจำนวนมากขึ้น

หลังจากการประกาศรางวัลสาขาการแพทย์ ในวันจันทร์ คณะกรรมการรางวัลโนเบล the Royal Swedish Academy of Sciences จะประกาศผู้ชนะสาขาฟิสิกส์ในวันอังคาร และสาขาเคมีวันพุธ

ส่วนคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ชื่อ Norwegian Nobel Committee จะประกาศโนเบลสาขาสันติภาพวันศุกร์ และ ในวันที่ 8 ตุลาคม ธนาคารกลางของสวีเดนจะประกาศรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นการปิดท้ายสำหรับปีนี้



(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Associated Press)