คณะกรรมการรางวัลโนเบลตัดสินมอบรางวัลสาขาการแพทย์แก่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษผู้บุกเบิกการผสมเทียมที่เรียกว่า in-vitro fertilization

  • Kevin Billinghurst
    ประภัสสร อักขราสา

คณะกรรมการรางวัลโนเบลตัดสินมอบรางวัลสาขาการแพทย์แก่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษผู้บุกเบิกการผสมเทียมที่เรียกว่า in-vitro fertilization

คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศว่า Robert Edwards นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาหรือกายวิภาคศาสตร์ เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2553 จากผลงานพัฒนาวิธีการผสมเทียม in-vitro fertilization หรือ IVF Robert Edwards เริ่มงานนี้มาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เขาพัฒนาเทคนิควิธีการนำไข่ออกมาจากมดลูกผู้หญิงแล้วนำมาผสมกับเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง แล้วนำไข่ที่ผสมปฏิสนธิแล้วไปใส่ในครรภ์มารดา เขาทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ ชาวอังกฤษ Patrick Steptoe ผู้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อปี 2531 ทารกหลอดแก้วคนแรก Baby Louise Brown เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2521 ตอนนี้มีเด็กทารกที่เกิดด้วยกรรมวิธีเดียวกันนี้ทั่วโลกราว 4 ล้านคนแล้ว

คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศว่า Robert Edwards นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาหรือกายวิภาคศาสตร์ เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปีพุทธศักราช 2553

Robert Edwards อายุ 85 ปี เกิดที่เมืองแมนเชสเตอร์ เป็นผู้บุกเบิกกรรมวิธีผสมเทียมในหลอดแก้วนอกครรภ์มารดา ที่เรียกว่า in – vitro fertilization หรือ IVF

Baby Louise Brown ทารกหลอดแก้วคนแรกเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2521 เธออายุได้ 32 ปีแล้ว

Robert Edwards เริ่มงานนี้มาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เขาพัฒนาเทคนิควิธีการนำไข่ออกมาจากมดลูกผู้หญิงแล้วนำมาผสมกับเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง แล้วนำไข่ที่ผสมปฏิสนธิแล้วไปใส่ในครรภ์มารดา เขาทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ ชาวอังกฤษ Patrick Steptoe ผู้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อปี 2531

ตั้งแต่ทารกหลอดแก้ว Louise Brown ถือกำเนิดในอังกฤษในปี 2521 เป็นต้นมา มีเด็กทารกที่เกิดด้วยกรรมวิธีเดียวกันนี้ทั่วโลกราว 4 ล้านคนแล้ว

ผลงานของ Robert Edwards และ Patrick Steptoe ก่อให้เกิดการถกอภิปรายเรื่องจริยธรรมขึ้นมา ทางสำนักวาติกัน บรรดาผู้นำทางศาสนาคนอื่นๆ และนักวิทยาศษสตร์บางคนเรียกร้องให้เลิกโครงการนี้ สำนักวาติกันคัดค้านกรรมวิธี IVF เพราะวิธีการนี้เกี่ยวเนื่องกับการแยกการปฏิสนธิออกจากการมีเพศสัมพันธ์โดยตรงระหว่างคู่สามีภรรยา และมักมีผลให้มีการทำลายไข่ที่นำออกมาจากผู้หญิงแล้วไม่ได้ใช้

ความเห็นขัดแย้งเรื่อง IVF ยังคงมีอยู่ และมีการถกอภิปรายกันในเรื่องที่ว่า ผู้ใดสมควรจะได้ใช้วิธีการนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่า ควรมีการกำหนดอายุจำกัดสำหรับผู้ที่จะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กทารกที่เกิดมาด้วยวิธีดังกล่าวหรือไม่ ผู้หญิงผู้อุทิศไข่และผู้ชายผู้อุทิศเชื้ออสุจิควรได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และคู่คนรักเพศเดียวกันสมควรมีลูกด้วยวิธี้นี้หรือได้รับการผสมเทียมแบบนี้หรือไม่

ในฝรั่งเศส คู่หญิงรักเพศเดียวกันไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เชื้ออสุจิที่มีผู้บริจาคมา ในอังกฤษ ผู้หญิงจะรับค่าตอบแทนจากการบริจาคไข่คิดเป็นเงินไทยเกินราว 11,000 บาทไม่ได้ และในเยอรมันนีกับอิตาลี ต่างก็ห้ามการแช่แข็งไข่ที่มีผู้บริจาคมา

หลังการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัล กรรมการผู้หนึ่งในคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์กล่าวว่า วิธีการนี้เป็นการบำบัดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีการวางระเบียบกฏเกณฑ์โดยอาศัยแนวทางทางจริยธรรมอย่างเข้มงวดกวดขัน และการศึกษาระยะยาวพบว่า เด็กหลอดแก้วนั้น มีสุขภาพดีเหมือนเด็กธรรมดาอื่นๆ ทั่วไป

รางวัลด้านการแพทย์เป็นรางวัลแรกที่ประกาศสำหรับรางวัลโนเบลปีนี้ ในวันพุธจะมีการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลสาขาเคมี ส่วนสาขาวรรณกรรม จะประกาศในวันพฤหัสบดี สาขาสันติภาพ จะประกาศในวันศุกร์ และสาขาเศรษศาสตร์ จะประกาศในวันจันทร์