สำนักข่าวรอยเตอร์ออกรายงานเชิงลึกเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสนิพาห์ (Nipah Virus) ในเขตเคราลาในประเทศอินเดีย เนื่องจากว่าไม่นานนี้ เชื้อดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และคนจำนวนนับร้อยถูกกักตัว
ไวรัสพันธุ์ดังกล่าวสร้างความเสี่ยงให้กับมนุษย์ที่อยู่ใกล้ชิดกับค้างคาว
กรณีศึกษาในอินเดียสะท้อนถึงความจำเป็นของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโลก ที่ต้องผลักดันความตกลงนานาชาติในรูปแบบสนธิสัญญา เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกันการข้ามสายพันธุ์ของเชื้อโรคอันตรายจากสัตว์สู่คน
รอยเตอร์รายงานว่า หลังจากที่มีผู้เสียชีวิต 2 คน จากผู้ติดเชื้อ 6 รายจากไวรัสนิพาห์เขตเคราลาสามารถยับยั้งการระบาดได้ และเป็นตัวอย่างที่ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ
เจ้าหน้าที่อินเดียสกัดการระบาดใหญ่ได้หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในหมู่บ้านทั้งหมดเก้าแห่งเป็นเวลาสองสัปดาห์ และตรวจสอบความเป็นไปด้านสุขภาพของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านกว่า 53,000 หลังคาเรือน ทั้งยังติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อ 1,200 คน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO
เเม้จะได้รับเสียงชื่นชม แต่เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ปิดช่องโหว่เพื่อการป้องกันได้ดีขึ้น ในเรื่องการปกป้องถิ่นที่อยู่ของสัตว์ และการจำกัดโครงการการพัฒนาพื้นที่ของมนุษย์
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา WHO เปิดเผยร่างแนวทางลดความเป็นไปได้ของการระบาดของไวรัสจากสัตว์สู่คน ซึ่งต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ทำการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนสอดส่องปัจจัยด้านสิ่งเเวดล้อม
การศึกษาเมื่อปีที่เเล้วโดยนักวิทยาศาสตร์ในเคราลาเเนะนำให้มีการรักษาสิ่งเเวดล้อมเดิมของค้างคาว เพื่อให้พวกมันมีผลไม้กินและมีต้นไม้ตามถิ่นอาศัยเป็นที่พักพิง
การศึกษาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ พบความเชื่อมโยงของการเเพร่ของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน กับการตัดไม้ทำลายป่า การพัฒนาเขตเมือง และการทำการเกษตรในระดับที่สูง ตามรายงานของรอยเตอร์
จากนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากประเทศต่าง ๆ จะนำร่างความตกลงมาหารือกันในวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่เจนีวา
รายงานระบุว่าประเด็นน่าจะมีการถกเถียงต่อไปคือเรื่องเงินช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยสู่ประเทศกำลังพัฒนาสำหรับการป้องกันการระบาดของเชื้อโรคอันตรายจากสัตว์สู่คน
- ที่มา: รอยเตอร์