Your browser doesn’t support HTML5
ในช่วงที่ผ่านมา การเมืองอันร้อนระอุในหลายประเทศช่วงนี้ทำให้ประชาชนแสดงท่าทีถึงขั้น “ลงไม้ลงมือ” กับนักการเมือง และตอนนี้ก็มีประชาชนเริ่มนำอาหารมาเป็นเครื่องมือในการทำลายภาพพจน์เสียด้วย
อย่างพาดหัวจาก The Washington Post ที่ระบุว่า What is ‘milkshaking?’ Ask the Brits hurling drinks at right-wing candidates หมายความคร่าวๆ ว่า การปานมปั่นคืออะไร? ลองถามคนอังกฤษที่ปาเครื่องดื่มปั่นนี้ใส่นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมดู
ข่าวนี้รายงานถึงสถานการณ์ที่ชาวอังกฤษใช้การ “ปามิลค์เชค” เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงในอังกฤษ ซึ่งนายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคเบร็กซิต เป็นเป้าหมายล่าสุด ที่ทำให้แก้วมิลค์เชคในมือของชาวอังกฤษสั่นเทากันไปทั่วประเทศ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในนิวคาสเซิลเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งชายอังกฤษวัย 32 ปีเลือกปานมปั่นรสกล้วยคาราเมลที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ด Five Guys เข้าใส่นายฟาราจ และในบ่ายวันเดียวกัน #Milkshake ก็กลายเป็นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์อังกฤษทันที ตามมาด้วยชื่อของนายพอล โครวเธอร์ ชายที่ปามิลค์เชตเข้าใส่นายฟาราจ ซึ่งตอนนี้ถูกตำรวจจับกุมตัวจากการกระทำของเขา
ไม่เพียงแค่นั้น นายคาร์ล เบนจามิน จากพรรคยูคิป และทอมมี โรบินสัน อดีตกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนสายอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ก็เคยถูกปานมปั่นจากผู้ที่ไม่สนับสนุนพวกเขามาแล้ว
“คำในข่าว” สัปดาห์นี้ขอหยิบยกคำที่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้ในการแสดงท่าทีทางการเมืองแบบถึงพริกถึงขิงมาฝากกัน คำว่า milkshake ในรูปนี้เป็นคำนามที่หมายถึงนมปั่น แต่ในบริบทนี้ เมื่อเติม ing เข้าไป ให้ความหมายหนึ่งว่า ปานมปั่น และหากผันเป็นกริยาช่อง 3 milkshaked จะให้ความหมายเป็น passive voice ขึ้นมาทันทีและให้ความหมายว่า ถูกปานมปั่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคำ Slang ทั้งสิ้น
จากนมปั่น ข้ามไปที่ egg กันบ้าง ซึ่งไม่ได้ให้ความหมายว่าไข่แต่อย่างเดียว egg ในรูปกริยา หมายถึง ปาไข่ และถ้าเป็นกริยาช่อง 3 egged จะให้ความหมายว่า โดนปาไข่ใส่ ซึ่งมีทั้งกรณีที่ ส.ส. ฝ่ายอนุรักษ์นิยมออสเตรเลีย เฟรเซอร์ แอนนิ่ง รวมทั้งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียสก็อต มอร์ริสันก็โดนปาไข่เข้าอย่างจังมาแล้ว อย่างพาดหัวของ Independent ระบุว่า Australian prime minister Scott Morrison egged by activist on campaign trail หมายถึง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สก็อต มอร์ริสัน ถูกนักเคลื่อนไหวปาไข่เข้าใส่ระหว่างลงพื้นที่หาเสียง
นอกจากนี้ ยังมีสำนวนเกี่ยวกับไข่และความอับอายมาฝากกันด้วย อย่างสำนวนที่ว่า egg on (someone’s) face ให้ความหมายว่า เสียหน้า หรือเป็นที่อับอาย ยกตัวอย่างเช่น บทความของ forbes ที่กล่าวถึงการที่ Google ยกเลิกโปรเจค Works with Nest ซึ่งเป็น ระบบ Smart Home ของบริษัทหลังพบปัญหาการใช้ และหันไปสนับสนุนโปรเจคของ Amazon แทน ในช่วงหนึ่งระบุว่า Ultimately however, the entire episode leaves Google with a little egg on its face. หมายถึง ในท้ายที่สุดแล้ว โครงการดังกล่าวทำให้กูเกิลอับอายอยู่เล็กน้อย
จากเรื่องไข่ ไปดูขนมที่มีส่วนผสมของไข่กันต่อ อย่าง pie เป็นอีกหนึ่งอาหารการกินที่เป็นเครื่องมือสำหรับปาใส่นักการเมือง ซึ่งมักจะเห็นเป็นพายที่ใส่ครีมเสียส่วนใหญ่ อย่าง to throw a pie in someone’s face หรือ to pie someone in the face หมายถึง การทำให้อับอาย
นอกจากนี้ ยังมีสำนวนที่เกี่ยวกับ pie เพิ่มเติม อย่าง have a finger in the pie หมายถึง มีเอี่ยว หรือ มีส่วนร่วม cutie pie หมายถึง คนน่ารัก มักใช้กับเด็กหรือกับคนรัก pie in the sky หมายถึง ความหวังที่ยากจะเป็นจริง และ eat humble pie หมายถึง การยอมรับว่าทำผิด ยอมรับความอับอายที่เกิดขึ้น
พอเห็นคำว่า humble ที่ให้ความหมายหนึ่งว่า อ่อนน้อมถ่อมตน จึงอยากส่งท้ายด้วยคำคมจากนักเขียนชาวอังกฤษ C.S. Lewis ที่ว่า “Humility is not thinking less of yourself; it’s thinking of yourself less” การถ่อมตนไม่ใช่การคิดว่าตัวเองมีค่าน้อยลง แต่คือการคิดถึงตัวเองให้น้อยลงต่างหาก