Your browser doesn’t support HTML5
ในชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีที่อเมริกา จะมีกลุ่มกิจกรรมที่เป็นตัวต่อยอดทางสังคมที่สำคัญ อย่างการเข้าเป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษา ซึ่งกว่าจะได้เป็นสมาชิกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และตามมาด้วยกิจกรรมการ “รับน้อง” ธรรมเนียมปฏิบัติของรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย ที่หวังสร้างความสัมพันธ์อันกลมเกลียวจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องและเพื่อนร่วมชั้นเรียน
สมาชิกของสโมสรนักศึกษาชาย ที่เรียกว่า Fraternity และ Sorority สำหรับผู้หญิง มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่แปลว่า พี่ชายกับน้องสาว นำมาใช้เรียกสมาชิกทางสังคมซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัวสำหรับนักเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีประวัติมายาวนานในแต่ละมหาวิทยาลัย
สโมสรหรือสมาชิกในกลุ่มเฉพาะเหล่านี้จะเรียกกันว่า Greek House หรือเรียกกันเป็นบ้าน โดยใช้อักษรกรีก 3 ตัว เช่น Alpha-Beta-Alpha หรือ Beta Theta Pi ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะต้องกินนอนและใช้ชีวิตด้วยกันไปจนจบการศึกษา
ถ้ามองอีกด้านหนึ่งระบบสโมสรเหล่านี้จะถือเป็นกลุ่มสังคมที่มีสิทธิพิเศษในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่เครือข่ายสังคมแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต
โดยปัจจุบันตามข้อมูลของ North American Interfraternity Conference ระบุว่า ในอเมริกามีนักศึกษาและศิษย์เก่าที่เป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษาชายและหญิงราว 9.1 ล้านคน และเป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่งในประเทศ
ยกตัวอย่างบุคคลมีชื่อเสียงที่อยู่ในสโมสรนักศึกษาต่างๆ เช่น Warren Buffett เป็นสมาชิกของ Alpha Sigma Chi ประธานาธิบดี George Bush ผู้พ่อ และประธานาธิบดี George W. Bush เป็นสมาชิกของ Delta Kappa Epsilon ทั้งคู่ ส่วนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เป็นสมาชิกของ Phi Gamma Delta
ฝั่งดาราก็มี Harrison Ford และ Paul Rudd เป็นสมาชิกของ Sigma Nu, Brad Pitt เป็นสมาชิกของ Sigma Chi เป็นต้น
ดังนั้น การที่เข้าเป็นสมาชิกได้ อาจต้องเป็นลูกหลานของศิษย์เก่า หรือ Alumni ในบ้านนั้น หรือบางครั้งอาจมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้เข้าร่วมกลุ่ม และสิ่งที่พวกเขาต้องเจอในการเข้าเป็นสมาชิกในสโมสรเหล่านี้ คือ พิธีการรับน้อง หรือ Hazing ซึ่งนำไปสู่ประเด็นข่าวมากมาย
ล่าสุดมีกรณีของมหาวิทยาลัย Pennsylvania State University มีเหตุการณ์ที่ นาย Tim Piazza อดีตนักศึกษา เสียชีวิตหลังจากกิจกรรมรับน้องของสโมสรนักศึกษา Beta Theta Pi ที่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ 18 ขวดภายใน 82 นาที
รวมทั้งเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อนที่นาย Marquise Braham อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ ฆ่าตัวตายหลังจากพยายามออกมาคัดค้านกิจกรรมรับน้องของสโมสรนักศึกษา Phi Sigma Kappa ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน
แต่การดำเนินคดีกลับเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากผู้รักษากฏหมายและระบบกระบวนการยุติธรรมต่างมองว่า การรับน้องเหมือนกับกิจกรรมของเด็กมหาวิทยาลัย และเครือข่ายที่แข็งแกร่งของสมาชิกในสโมสรนักศึกษาที่อาจเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขนโยบายบางอย่างได้
ประเด็นการรับน้อง นำมาสู่เรื่องราวของ “คำในข่าว” สัปดาห์นี้ เมื่อข่าวของ VOA พาดหัวว่า Parents, Leaders Work to End Hazing at US Colleges ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองหลายรายที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการยุติการรับน้องของสโมสรนักศึกษา จากการเสียชีวิตของนักศึกษาระหว่างกิจกรรมรับน้องอย่างสุดโต่งหลายคดี
อย่างคำว่า hazing ในพาดหัวหมายถึง พิธีการรับน้อง ซึ่ง haze เป็นกริยา หมายถึง กลั่นแกล้ง โดยในระดับที่ผู้ใหญ่กลั่นแกล้งผู้น้อย ที่บริบทนี้คือรุ่นพี่มีพิธีการรับน้องในรูปแบบต่างๆ เช่น การกลั่นแกล้งให้ทำกิจกรรมแปลกๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องสนุกสนาน หรืออาจเป็นเหตุรุนแรงถึงขนาดเลือดตกยางออกได้ นอกจากนี้ ยังมีคำว่า ritual กับ rite ซึ่งให้ความหมายว่า พิธีกรรม ซึ่งในบริบทนี้หมายถึง พิธีการรับน้อง ที่ดูเหมือนกับพิธีกรรมบางอย่าง