Your browser doesn’t support HTML5
เป็นประเด็นกันอีกครั้งสำหรับการปราศรัยหาเสียงเวทีแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังวิกฤตโควิด-19 โดยพาดหัวข่าวของวีโอเอ ระบุว่า Trump Campaign Brushes Off Low Turnout at President's Rally หมายถึงทีมหาเสียง ปธน.ทรัมป์ พยายามปฏิเสธกรณีตัวเลขผู้เข้าฟังปราศรัยน้อยกว่าคาด
ประเด็นของข่าวนี้คือ ทีมหาเสียงปธน.ทรัมป์ ยืนยันว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนมาฟังปราศรัยครั้งแรกในรอบหลายเดือนของทรัมป์ที่เมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมามากกว่า 1 ล้านคน ทั้งที่ความจุของ BOK Center arena ที่จัดการปราศรัยรองรับได้แค่ 19,000 คนเท่านั้น แต่เมื่อถึงวันจริงกลับมีผู้เข้าร่วมบางตาแค่หลักพัน แถมยังมีภาพเก้าอี้ในสนามกีฬาที่ว่างเปล่าเผยแพร่ออกไปในสื่อกระแสหลักอีกด้วย
ฝั่งทีมหาเสียงปธน. ทรัมป์ ออกโรงปฏิเสธกรณีผู้เข้าร่วมฟังปราศรัยน้อยเหลือใจว่า เป็นเพราะสื่อข่าวปลอมนำเสนอสถานการณ์โควิด-19 ให้ดูน่ากลัว และทำให้คนไม่ค่อยกล้ามาเข้าร่วมฟังปราศรัย และว่าจริงๆมีคนเดินผ่านจุดตรวจอาวุธก่อนเข้าฟังถึง 12,000 คน ไม่ใช่หลักพันคนอย่างที่สื่อนำเสนอ
และที่น่าสนใจคือ มีรายงานว่ากลุ่มผู้ใช้แอพฯโซเชียลมีเดีย TikTok และแฟนเพลงเกาหลี หรือ เคป๊อป (K-pop) อาจอยู่เบื้องหลังการเข้าฟังหาเสียงที่บางตาในโอกลาโฮมาด้วย ตามรายงานของรอยเตอร์ ที่ว่าคนกลุ่มนี้เข้าไปแกล้งลงทะเบียนหลอกๆ เพื่อจองที่นั่งในการปราศรัยหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยไม่ตั้งใจจะไปร่วมฟังการหาเสียงจริงๆ สร้างความสับสนให้ทีมหาเสียงปธน.ทรัมป์ อย่างมาก
คำในข่าวสัปดาห์นี้ สนใจคำว่า flummox ของถ้อยแถลงจากผู้จัดการทีมหาเสียงปธน. ทรัมป์ แบรด พาร์สเกล ที่ว่า Parscale dismissed reports that TikTok and K-Pop fans had flummoxed the Trump campaign by registering for tickets to the rally, to make it appear there would be a huge crowd, with no intention of attending. หมายถึงนายพาร์สเกล ปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า กลุ่มผู้ใช้แอพฯโซเชียลมีเดีย TikTok และแฟนเพลงเคป๊อป ทำให้ทีมหาเสียงทรัมป์สับสน ด้วยการเข้าไปกดลงทะเบียนเข้าร่วมฟังปราศรัยเพื่อให้ดูว่ามีคนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ก่อนจะไม่ไปเข้าร่วมจริง
คำว่า flummox เป็นกริยา หมายถึง ทำให้สับสน งุนงง ตามประโยคที่ว่า TikTok and K-Pop fans had flummoxed the Trump campaign กลุ่มผู้ใช้แอพฯ TikTok และเหล่าสาวกเคป๊อบ สร้างความสับสนงุนงงให้ทีมหาเสียงทรัมป์
นอกจาก flummox แล้ว มีคำที่ใช้แทนกันได้ อย่างคำว่า confuse สับสน confound สับสนปนเป bewilder ฉงน, งุนงง คำว่า perplex พิศวง และ puzzle ทำให้สับสน
คำเหล่านี้ทำเป็นคุณศัพท์ ด้วยการเติม ing ตามท้ายได้หมดเลย ก็จะกลายเป็น confusing, confounding, bewildering, perplexing และ puzzling
คำที่แปลว่า ทำให้สับสน หรือเกิดอาการมึนตึ้บ ไม่ใช่แค่ความหมาย แต่ยังรวมถึงความยาวและการออกเสียง นั่นคือคำว่า discombobulate ตัวอย่างเช่น Having travelled to many countries last month, I came back home, discombobulated by differences in the time zones, languages and traffic regulations. หลังจากเดินทางไปหลายประเทศเมื่อเดือนก่อน ฉันกลับมาบ้าน และรู้สึกสับสนไปหมดทั้งกับ เวลา ภาษา และกฎจราจรที่แตกต่างกัน
แต่ถ้านำมาใช้แบบง่ายๆ ในภาษาพูด สามารถใช้แทนได้ว่า to get mixed up คือ สับสนปนเปกันไปหมด เช่น Don't get mixed up. John is the one who has a dimple in his chin, while his twin brother Jim has freckles on his cheeks. หมายความว่า อย่าสับสนกันนะ จอห์น คือคนที่คางมีรอยบุ๋ม แต่ จิมแฝดผู้น้อง มีรอยกระบนแก้ม
ขยายเรื่องความสับสนกันต่อ ถ้าเราสับสนมากๆ ก็มีภาษาอังกฤษที่ใช้คล้ายกับเรา คือ head-scratching งงจนต้องเกาหัว ตัวอย่างเช่น This teacher has a habit of giving us a head-scratching problem to solve at the end of the exam. หมายความว่า คุณครูคนนี้ ชอบออกข้อสอบแบบมีโจทย์สุดหิน ไว้ตอนท้ายทุกทีเลย
ส่งท้ายวันนี้ด้วย คำคมจากแบรด พิตต์ นักแสดงหนุ่มเจ้าของออสการ์จาก Once Upon A Time in Hollywood ที่ว่า It took me a good decade of hiding in my house and not going outside to even, like, get my arms around this idea of celebrity, where suddenly people are looking for you to pick your nose or get a shot of you kissing some woman. It's a very discombobulating thing. หมายความว่า ผมใช้เวลากว่าสิบปีได้ ที่พยายามไม่ออกไปไหน และทำความเข้าใจกับชีวิตการเป็นเซเลบที่คนให้ความสนใจ อยากที่จะเห็นเรา เเคะจมูก หรือ จูบผู้หญิง มันเป็นสิ่งที่น่างุนงงอย่างมาก