แฟรนไชส์ร้านอาหารทั่วโลกปรับลดเมนูสู้วิกฤตซัพพลายเชน: คำในข่าว

FILE - A KFC restaurant is seen in Pittsburgh, Pennsylvania, Feb. 23, 2018.

แฟรนไชส์ร้านอาหารทั่วโลก ต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตซัพพลายเชนด้านอาหารในระดับโลก จากการขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบจำนวนมาก

Your browser doesn’t support HTML5

Newsy Vocab


พาดหัวข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า Stretched global supply chain means shortages on summer menus หมายความว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัวทั่วโลกนำไปสู่การขาดแคลนเมนูอาหารช่วงหน้าร้อน

ข่าวนี้เล่าถึง การสำรวจแบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารอย่างน้อย 9 แห่งทั่วโลก ที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนผสมในการทำเมนูต่างๆ จากปัญหาซัพพลายเชน หรือ สายการผลิตสินค้าในระบบที่ตึงตัวทั่วโลก ส่งผลให้บรรดาร้านอาหารเหล่านี้ต้องปรับลดเมนูที่มีประจำในช่วงฤดูร้อน อย่างเช่น ไส้กรอก ปีกไก่ทอด และปัญหานี้ยังลุกลามไปถึงบรรจุภัณฑ์ของร้านอาหารเหล่านี้ด้วย

ปัญหาซัพพลายเชนโลกตึงตัว ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับเปลี่ยนเมนูในหน้าร้อนนี้ อย่างเช่นกรณีของ Lotteria ร้านอาหารแฟรนไชส์อันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ที่ต้องแจ้งลูกค้าว่าทางร้านได้เปลี่ยนเมนูจากเฟรนช์ฟรายส์ที่ขาดแคลนอย่างหนัก มาเป็นชีสแท่งทอดแทน เนื่องจากบริษัทจัดส่งเบอร์เกอร์ ไก่ทอด และเฟรนช์ฟรายส์ ของเกาหลีใต้ เจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการจัดส่ง บวกกับการตรวจตราคุณภาพของวัตถุดิบ ช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ส่วนที่สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เวนดีส์ (Wendy's) ฝั่งตอนใต้ของสหรัฐฯ ได้รับผักกาดแก้วซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเบอร์เกอร์ของร้านเพียงครึ่งเดียว ขณะที่ร้านซับเวย์ (Subway) ในมหานครนิวยอร์ก เจอปัญหาขาดแคลนเนื้อย่าง ไก่ย่าง ซอสมะเขือเทศ และมัสตาร์ด ร้านไก่ทอดชื่อดังอย่างเคเอฟซี (KFC) เจอปัญหาขาดแคลนถุงกระดาษใส่สินค้า และร้านกาแฟชื่อดังของสหรัฐฯ สตาร์บัคส์ (Starbucks) สาขาในนิวยอร์ก ขาดแคลนเมนูหน้าร้อนมากมาย อาทิ ชาเขียวเย็น น้ำเชื่อม Cinnamon Dolce ผักโขม เฟตาชีส และแผ่นไข่ขาวสำหรับเมนูเพื่อสุขภาพของแบรนด์

ในมุมมองของเจมส์ บูลเลิร์ด (James Bullard) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เขตเซนต์หลุยส์ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ภาวะตึงตัวของห่วงโซ่อุปทานจะยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า จากการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลังโควิด

คำในข่าวสัปดาห์นี้ เสนอคำว่า shortage จากพาดหัวข่าวนี้ คำว่า shortage เป็นคำนาม ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า short ที่เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า สั้น หรือ เตี้ย โดยคำว่า shortage แปลว่า ขาดแคลน

มาต่อกันที่คำว่า shorten เป็นคำกริยา หมายถึง ทำให้สั้นลง หรือ ทำให้ลดลง หรือ ร่นเวลาลง

ไปดูการใช้คำว่า shorten ที่เป็นคำกริยาในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น

Shawn decided to shorten his stay with his in-laws after he had to attend a business conference at short notice.

หมายความว่า ชอว์นตัดสินใจร่นเวลาอยู่กับญาติๆ ฝั่งภรรยาลง จากที่เขาต้องเข้าประชุมด่วน

จากตัวอย่างที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นคำว่า at short notice ซึ่งเป็นสำนวน เเปลว่า ด่วน หรือ ที่บอกล่วงหน้าอย่างกะทันหันไม่ทันตั้งตัว หรือ ที่แจ้ง​ล่วงหน้าในระยะเวลาอันสั้น

มาอีกหนึ่งสำนวนที่ว่า cut short ให้ความหมายว่า ร่นเวลา หรือ รวบรัดตัดบท ตัวอย่างเช่น

Stan's plan to finish his PhD in computer science was cut short, as a tech giant offered him a job he couldn't turn down last year.

หมายความว่า แผนการของสแตนที่จะเรียนจบปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ถูกรวบรัดตัดบทไป จากที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เสนองานที่เขาไม่อาจปฏิเสธได้เมื่อปีก่อน

ต่อที่คำศัพท์ที่ให้ความหมายว่า สั้น หรือ เตี้ย อย่างคำว่า shorty เป็นคำนาม แปลว่า คนตัวเตี้ย ตัวอย่างเช่น

He was called a shorty until the growth spurt kicked in. Now he plays in NBA.

หมายความว่า เขาถูกล้อว่าเป็นคนตัวเตี้ยมาตลอดจนกระทั่งเขาเริ่มตัวสูงขึ้น ตอนนี้เขาได้เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลเอ็นบีเอแล้ว

ขยับมาที่คำว่า shortly เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ในไม่ช้า ในเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น

Honey, can you put the kids to bed tonight? I should be back shortly, but it would be too late for their bedtime.

หมายความว่า ที่รักจ๋า คืนนี้ช่วยพาลูกๆเข้านอนได้ไหมจ๊ะ? ฉันน่าจะกลับถึงบ้านในอีกไม่ช้า แต่น่าจะไม่ทันเวลาลูกๆเข้านอนน่ะ

ส่งท้ายคำในข่าววันนี้ ด้วยคำคมจาก ฮิว เฮฟเนอร์ (Hugh Hefner) ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Playboy ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า Life is too short to be living somebody else's dream. หมายความว่า ชีวิตสั้นเกินไปที่จะใช้ชีวิตตามความฝันของคนอื่น

Your browser doesn’t support HTML5

Newsy Vocab คำในข่าว Ep.51 ‘ขาดแคลน’ ภาษาอังกฤษใช้คำว่าอะไร?