ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและการบำบัดรักษาโรคในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

  • Rosanne Skirble
    Nittaya Maphungphong

Health, medicine

Lancet วารสารการแพทย์ของอังกฤษเปรียบเทียบโรคภัยไข้เจ็บของเมื่อ 100 ปีที่แล้วกับในปัจจุบัน บ่งชี้ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น และระบุด้านที่ก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้า แต่เน้นย้ำว่า หัวใจของการวิจัยค้นคว้าทางการแพทย์ในสมัยนี้ ใช้วิชาวิทยาศาสตร์ที่มั่นคงหนักแน่น มีการทบทวนโดยผู้อยู่ในวงวิชาการเดียวกัน และมีมาตรฐานที่เป้นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจที่ดีได้ในอนาคต

เมื่อปีค.ศ. 1911 บรรณาธิการของ Lancet วารสารการแพทย์ของอังกฤษ เขียนบทความยกย่องชื่นชมความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาโรคกลัวน้ำ โรคคอตีบ และกาฬโรค ในขณะที่ร้องทุกข์ที่มีความก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้าในการรณรงค์ควบคุมวัณโรค ซึ่งร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ในสมัยนั้น

มาในปีค.ศ. 2011 วัณโรคยังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ต่อไป ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสามของประชากรโลก ติดเชื้อโรคนี้ และคนหนึ่งล้านเจ็ดแสนคนเสียชีวิตเพราะโรคนี้ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังค้นพบว่า มีเชื้อวัณโรคพันธุ์ใหม่ที่ดื้อยาปรากฏให้เห็นด้วยแล้ว

แต่ Bill Summerskill บรรณาธิการบริหารของ Lancet คนปัจจุบัน มองการณ์ไปในทางดีเพราะมีวิธีวินิจฉัยโรคนี้ใหม่ เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดีของปีค.ศ. 2010 วิธีตรวจใหม่นี้ระบุผลได้รวดเร็วกว่าที่แล้วมา ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการระบุตัวผู้ป่วย และทำให้เริ่มการบำบัดรักษาช้ากว่าที่ควร และว่าด้วยวิธีตรวจใหม่นี้ กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV และผู้ที่เป็นโรคเอดส์ จะได้รับการบำบัดรักษาเร็วขึ้น และจะสะกัดกั้นการแพร่เชื้อได้ด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่วารสาร Lancet ระบุไว้ว่าเป็นปัญหาสำคัญเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และก็ยังเป้นปัญหาใหญ่จนทุกวันนี้ คือเรื่องอาหารที่ปลอดภัย คนอเมริกันราวๆ 1500 คนล้มป่วยลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพราะรับประทานไข่ที่มีเชื้อ Salmonella

ประธานาธิบดี Barack Obama เพิ่งจะลงนามในร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่องอาหารปลอดภัย เมื่อวันที่ 4 มกราคมนี้เอง

ส่วนโรคอื่นๆที่ทำให้วิตกกังวลกันเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และก็ยังเป็นที่วิตกกังวลกันในเวลานี้ คือโรคที่ถ่ายทอดกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และโรคมะเร็ง

ในขณะที่การบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โรคมะเร็งกลายมาเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยเป็นมะเร็งหลายชนิดกำลังเพิ่มสูงขึ้น และมีข่าวเรื่องการแทรกแซงที่ได้ผล ปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น การรับประทานแอสไพรินขนานต่ำวันละหนึ่งเม็ด ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในลำไส้ และมะเร็งชนิดอื่นๆได้

บรรณาธิการบริหารของวารสาร Lancet ให้ความเห็นว่า เมื่อย้อนกลับไปดูปัญหาทางการแพทย์เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ทำให้เห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างมุ่งมั่น แม้จะเชื่องช้า และก็ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีบำบัดรักษาและหาตัวยาใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับมะเร็งชนิดต่างๆ และการติดเชื้อ และว่าการทำผังเชื้อพันธุ์มนุษย์ได้ ยังจะช่วยให้การบำบัดรักษาตรงเป้าได้มากยิ่งขึ้นด้วย

แต่ Bill Summerskill บอกว่า ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก เขาบอกว่า ถ้าอ่านดูวารสารการแพทย์ทุกวันนี้ จะเห็นว่า หัวใจของการวิจัยสมัยนี้ คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่มั่นคงหนักแน่น มีการทบทวนโดยผู้ที่อยู่ในวงวิชาการเดียวกัน และการทำรายงานที่มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจที่ดีต่อไปในอนาคต