ผลวิจัยชี้แบคทีเรียในทางเดินอาหารอาจส่งผลต่อความรุนแรงของโควิด-19

Human Body Digestive system

ผลการวิจัยชิ้นใหม่โดยนักวิจัยที่ Chinese University of Hong Kong และตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Gut เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ชี้ว่าแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบในระบบย่อยอาหารของมนุษย์ อาจส่งผลต่อความรุนแรงของผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

รายงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า สุขภาพของระบบทางเดินอาหารของคนเราส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและการตอบสนองต่อการติดเชื้อต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อโคโรนาไวรัส

นักวิจัยได้ตรวจสอบกลุ่มตัวอย่าง 100 คนที่มีผลตรวจโคโรนาไวรัสเป็นบวก โดยแยกออกเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของอาการโควิด-19 ต่าง ๆ กัน จากนั้นได้ตรวจสอบเลือดและของเสียของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเพื่อตรวจระดับแบคทีเรียในทางเดินอาหารเทียบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีอาการของโควิด-19 มีจำนวนแบคทีเรียดีซึ่งช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้นกันและระบบย่อยอาหาร หรือ โพรไบโอติกส์ น้อยกว่าผู้ที่ไม่มีอาการโควิด-19 อย่างชัดเจน ซึ่งความผิดปกติของจำนวนแบคทีเรียในทางเดินอาการนี้จะยังคงมีอยู่แม้ไม่มีอาการโควิด-19 แล้ว หรือไม่พบเชื้อโคโรนาไวรัสในร่างกายของผู้ติดเชื้อผู้นั้นแล้วก็ตาม

ดร. Siew Ng ผู้ร่วมจัดทำรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า ทีมงานของเธอได้ร่วมกันพัฒนาสูตรโพรไบโอติกส์ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสรับประทาน ซึ่งพบว่าช่วยลดเวลาการเกิดอาการโควิด-19 และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัสขึ้นมาอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยคนอื่นที่ร่วมตรวจสอบงานสิจัยชิ้นนี้ ระบุว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารนั้นมีความเชื่อมโยงกับโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน อย่างไร