การศึกษาชี้ว่าภัยธรรมชาติทำให้คนยากจนยิ่งยากจนมากขึ้น

  • Joe Capua
ผลการศึกษาชิ้นใหม่เปิดเผยว่ามีคนยากจนระดับล่างจำนวนหลายร้อยล้านคนที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและเตือนว่าหากคนเหล่านี้ยังขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยเเล้งและภัยน้ำท่วม พวกเขาก็จะไม่มีทางหลุดพ้นจากความยากจนได้

ความยากจนแบบสุดขั้วหมายถึงการมีรายได้ต่ำกว่าวันละหนึ่งดอลลาร์กับยี่สิบห้าเซ็นท์สหรัฐหรือประมาณเกือบสามสิบแปดบาทต่อวัน ตอนนี้มีเสียงเรียกร้องกันหนาหูขึ้นให้ทางการทั่วโลกหาทางกำจัดความยากจนแบบสุดขั้วนี้ให้ได้ภายในอีก 17 ปีข้างหน้า เป้าหมายนี้อาจจะกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักๆของแผนการพัฒนาแผนใหม่ที่จะ ทดแทนเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (The Millennium Development Goals) ภายในปีพุทธศักราช 2558

อย่างไรก็ตาม สถาบัน Overseas Development Institute ในอังกฤษหรือ ODI ชี้ว่าการกำจัดความยากจนแบบสุดขั้วจะไม่มีทางประสบความสำเร็จหากรัฐบาลประเทศต่างๆไม่เข้าใจถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศยากจนที่สุดในโลกจากภัยธรรมชาติ สถาบันโอดีไอเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายงานที่เรียกว่าแผนที่ทางภูมิศาสตร์ ว่าด้วยความยากจน ภัยภิบัติทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศในปีพุทธศักราช 2573 (The Geography of Poverty, Disasters and Climate Extremes in 2030)

ด็อกเตอร์ทอม มิทเชล หัวหน้าฝ่ายภาวะโลกร้อนแห่งสถาบันโอดีไอ เป็นหนึ่งในผู้ร่างรายงานเรื่องนี้ เขากล่าวต่อผู้สื่อข่าววีโอเอว่านักวิจัยค้นพบว่ามีความเกี่ยวข้องกันมากระหว่างประเทศที่คาดว่ายังจะมีปัญหาความยากจนระดับรุนแรงไปจนถึงปีพุทธศักราช 2573 กับประเทศต่างๆที่ประสบกับวิกฤติภัยธรรมชาติมากที่สุด ข้อมูลนี้ไม่สร้างความแปลกใจแก่ทีมวิจัยเพราะต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่าคนยากจนที่สุดจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าความยากจนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับภัยภิบัติทางธรรมชาติ

ผลการศึกษานี้พบว่าอย่างน้อย 11 ประเทศเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดความยากจนที่มีสาเหตุจากภัยภิบัติทางธรรมชาติ ตั้งแต่ บังคลาเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย เคนยา มาดากัสก้า เนปาล ไนจีเรีย ปากีสถาน ซูดาน เซาท์ซูดานและยูกันดา ส่วนอีก 10 ประเทศถูกจัดว่าประชากรยากจนจำนวนมาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติสูงและมีการจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ รายงานนี้ยกตัวอย่างอินเดียว่าอยู่ในประเภทหลังนี้

ด็อกเตอร์มิทเชลกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ภายในปีพุทธศักราช 2573 ทีมวิจัยคาดว่าอินเดียยังมีประชากรยากจนอยู่จำนวนมาก อาจจะมากกว่า 100 ล้านคน นอกเหนือจากนี้ อินเดียยังจะเป็นประเทศที่เสี่ยงสูงมากต่อภัยภิบัติทางธรรมชาติ

ด็อกเตอร์มิทเชลกล่าวว่านี่ไม่ได้หมายความว่าคนยากจนเเสนเข็ญโชคร้ายเพราะอาศัยอยู่ในประเทศที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เขากล่าวว่าภัยธรรมชาติไม่เลือกที่ว่าจะเกิดขึ้น ณ.จุดใด คนยากจนแสนเข็ญมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราว ในบริเวณชานเมืองหรือในเขตชนบทห่างไกลที่ไม่มีระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้คนยากจนเหล่านี้ไม่สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้พวกเขายังไม่มีประกันภัยเพื่อรองรับค่าเสียหายจากการสูญเสียของที่อยู่และทรัพย์สิน คุณมิทเชลชี้ว่าในประเทศต่างๆ ทางการมักมุ่งโครงการลดความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติในเมืองใหญ่ๆที่มีความสำคัญทางการลงทุนทางธุรกิจจากต่างประเทศ มีน้อยประเทศมากที่มุ่งพัฒนาแผนการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในพื้นที่อาศัยของคนที่ยากจนแสนเข็ญที่สุดของประเทศและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

เขาเห็นว่าหากทางการในประเทศต่างๆต้องการแก้ปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง พวกเขาจำเป็นต้องพิทักษ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและต้องหันมาเน้นการจัดการภัยธรรมชาติกันมากขึ้น