นักวิทยาศาสตร์ชี้ จุลินทรีย์มีชีวิตในหินโบราณใต้ท้องสมุทรโลกแสดงความน่าจะเป็นของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร

Mars

Your browser doesn’t support HTML5

Bizarre Life From Under Seafloor

ทีมวิจัยที่นำโดย โยเฮ ซูซูกิ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นทีมล่าสุดที่ไม่ลดละความพยายามที่จะพิสูจน์ว่า มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซ่อนอยู่ตามหินโบราณใต้ท้องสมุทร และค้นพบเซลล์สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ภายในก้อนหินโบราณที่เปลือกโลกใต้สมุทรอันหนาวเย็น ทางตอนใต้ของพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก

การค้นพบนี้ทำให้วงการนักวิทยาศาสตร์งุนงงว่า เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ซึ่งมีอยู่เป็นล้านๆ ตัว สามารถมีชีวิตอยู่รอดท่ามกลางสภาวะที่ไม่น่าเอื้ออำนวย ภายในก้อนหินอายุหลายล้านปีได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี การค้นพบนี้กลับมาสนับสนุนความน่าจะเป็นที่ว่า สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วระดับจุลินทรีย์นั้นอาจมีอยู่เต็มไปหมดในเปลือกโลกใต้สมุทร ซึ่งประกอบไปด้วยชั้นหินขนาดมหึมาที่สูงเท่าๆ กับเขาเอเวอเรสต์ และกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 5 ของโลก ทั้งยังทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งมีชีวิตระดับนี้อาจยังมีชีวิตอยู่ในเทือกเขาต่างๆ บนดาวอังคารซึ่งครั้งหนึ่งถูกปกคลุมด้วยพื้นมหาสมุทร

ทั้งนี้ เปลือกโลกใต้สมุทรนั้นก่อตัวขึ้นมาค่อนข้างต่อเนื่องเป็นเวลาราว 3,800 ล้านปีแล้ว บริเวณแนวเทือกเขาใต้ทะเลที่ทอดตัวยาวเป็นระยะทาง 40,000 ไมล์ หรือประมาณ 64,373 กิโลเมตรรอบโลก และส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยหินชนิดที่เรียกว่า หินบะซอลต์ หรือหินอัคนีพุ ที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาอย่างรวดเร็วผสมกับน้ำทะเลเย็นจัด และก่อให้เกิดพลังงานที่สามารถช่วยหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ชีวิตตามพื้นสมุทร หรือลึกไปกว่านั้น ดังที่พิสูจน์จากการค้นพบข้างต้น

ในระหว่างการศึกษาวิจัยที่นำโดย ซูซูกิ นั้น ทีมงานสกัดหินจากใต้สมุทรมาทำความสะอาดให้มั่นใจว่า ไม่มีน้ำทะเลที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ต่างๆ หลงเหลืออยู่ และฆ่าเชื้อพื้นผิวภายนอกอย่างละเอียด ก่อนจะผ่าหินออกมาและพบว่ายังมีสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว ซึ่ง มาเรีย-ปาส ซอร์ซาโน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากศูนย์ชีวดาราศาสตร์ (Center of Astrobiology) ในสเปน ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการวิจัยนี้ แต่คุ้นเคยกับประเด็นนี้ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ทีมของซูซูกิค้นพบ น่าจะเป็นผู้อยู่อาศัยที่แท้จริงของเปลือกโลกของเรา

การที่สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วจำนวนมหาศาลเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างหนาแน่นในสภาพแวดล้อมที่ความดันอากาศสูงราว 8,520 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือ 3,865 กิโลกรัมต่อตารางนิ้ว เทียบกับระดับความดันปกติบนพื้นผิวโลกที่ 14.7 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว หรือราว 6.6 กิโลกรัมต่อตารางนิ้ว และมีสารอาหารอันน้อยนิด เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ถึงวิถีของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะ จุลินทรีย์ชีวิต ที่ดำเนินเพื่อดำรงชีพอยู่ได้

การศึกษาลึกลงไปพบว่า สิ่งมีชีวิตที่ค้นพบจากก้อนหินโบราณนี้ มีรายละเอียดทางพันธุกรรมที่ต่างจากพวกที่นักวิทยาศาสตร์พบเจอบนพื้นเปลือกโลกใต้สมุทร กล่าวคือ จุลินทรีย์ชีวิตกลุ่มที่เพิ่งพบเจอนี้ ไม่สามารถสังเคราะห์อาหารด้วยตนเองได้ และต้องหาอาหารจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกรณีของพวกมัน ก็คือ พลังงานจากอินทรียวัตถุ ซึ่งอาจเป็นของเสียหรือซากสัตว์ทะเลที่ตกลงมาอยู่ก้นทะเล หรือไม่ก็ส่วนย่อยสลายทางเคมีที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นชีวภาพของเปลือกโลกนั่นเอง

ซูซูกิ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำทีมจัดทำรายงานชิ้นนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Biology กล่าวว่า สารอาหารทั้งหมดนี้ถูกกักเก็บจนเข้มข้นและผสมกับโคลนที่ติดอยู่ตามรอยแตกของหิน จนกลายมาเป็นเหมือน โคลนมหัศจรรย์ที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

นอกจากสารอาหารเหล่านี้แล้ว ซูซูกิ บอกด้วยว่า จุลินทรีย์ในก้อนหินโบราณใต้ท้องสมุทร ยังกินก๊าซมีเทนที่อยู่ในหินเป็นอาหารด้วย แต่นักวิจัยยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่า ก๊าซนี้มีที่มาจากไหน

อารยา อูดรี นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จาก มหาวิทยาลัยเนวาดา ซึ่งไม่ได้ร่วมจัดทำรายงานนี้ ให้ความเห็นว่า การยืนยันถึงการมีชีวิตอยู่ของจุลินทรีย์ชีวิตในก้อนหินโบราณนี้ นำมาสู่ความหวังที่จะพิสูจน์ว่า น่าจะมีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่บนดาวอังคาร เนื่องจากหินบะซอลต์จากพื้นสมุทรของโลกมีลักษณะทางเคมีที่คล้ายกับหินบะซอลต์ที่พบบนดาวอังคารมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก๊าซมีเทนนั้นมีอยู่บนดาวอังคารด้วยเช่นกัน

ซอร์ซาโน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากศูนย์ชีวดาราศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเชื้อจุลินทรีย์สามารถรอดชีวิตอยู่บนดาวอังคาร และรอดมหันตภัยกัมมันตภาพรังสีบนพื้นผิวดาวมาได้ มนุษย์อาจมีโอกาสค้นพบสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่ว่านี้ในไม่ช้า โดยโครงการสำรวจอวกาศร่วมระหว่างยุโรปและรัสเซีย มีแผนปล่อย ยานโรเวอร์ Rosalind Franklin ของโครงการ Exomars เพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร และมีกำหนดลงจอดในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโคลนซึ่งเต็มไปด้วยโมเลกุลของสารอินทรีย์ ขณะที่องค์การนาซา มีแผนปล่อยยานโรเวอร์ Perseverance ไปเก็บตัวอย่างหินบริเวณปล่องภูเขาไฟบนดาวอังคารซึ่งมีโคลนแบบเดียวกันอยู่เต็มไปหมด ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ด้วย

มาร์ค เลเวอร์ นักนิเวศน์วิทยาจากมหาวิทยาลัยอาร์ฮุส ในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเคยร่วมเขียนรายงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร กล่าวเสริมว่า การพิสูจน์ว่าเชื้อจุลินทรีย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้บนดาวอังคาร อาจนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่าในจักรวาล ว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เราไม่รู้และรอการค้นหาอยู่