เหงาเพื่อโลก! นาซา ตามหาอาสาสมัคร “อยู่อย่างเดียวดาย” ในอวกาศ

Crew members of the SIRIUS 18/19 mission are shown in this undated photo. During the four-month isolation mission, participants were confined together for the study, lasting from March to July 2019, at the Institute of Biomedical Problems in Moscow, Russi

Your browser doesn’t support HTML5

NASA Isolation

องค์การนาซา กำลังประกาศหาอาสาสมัครที่ชอบการกักตัวอยู่คนเดียว เพื่อภารกิจสำคัญบนดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต

เชื่อว่าหลายคนเริ่มจะเคยชินกับการอยู่ตัวคนเดียวช่วงการระบาดของโควิด-19 กันบ้างแล้ว และการปลีกวิเวกอยู่คนเดียวเปลี่ยวเอกาเช่นนี้ กำลังจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เมื่อองค์การนาซา ประกาศรับสมัครบุคคลที่พร้อมจะอยู่คนเดียวเป็นเวลาถึง 8 เดือน เพื่อทำการทดลองสำคัญในภารกิจส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์และดาวอังคารของนาซา

ทีมวิจัย Human Research Program ขององค์การนาซา ต้องการศึกษาการที่มนุษย์ต้องอยู่คนเดียวในอวกาศเป็นเวลานานๆ ว่าจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร รวมทั้งค้นหาวิธีและเทคโนโลยีที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถท่องอวกาศได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบัน นักบินอวกาศอเมริกัน ยังมีโอกาสใช้ชีวิตในอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS เท่านั้น และภารกิจแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน นานที่สุดคือเกือบ 1 ปีเท่านั้น

นาซาได้ปลุกปั้นโครงการศึกษาวิจัยมนุษย์ เพื่อภารกิจท่องอวกาศที่ยิ่งใหญ่และยาวนานกว่านั้น ทั้งแผนรองรับโครงการ Artemis ในภารกิจส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ภายในปี 2024 และแผนการตั้งฐานบนดวงจันทร์ในปี 2028 ซึ่งจำเป็นต้องใช้นักบินอวกาศที่สามารถใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่นได้นานขึ้น เพื่อให้สามารถเดินหน้าทดลองต่อไป หรือสามารถทำภารกิจเดินทางไปดาวอังคารจากฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในอนาคตได้

สำหรับคุณสมบัติของอาสาสมัครที่จะได้รับคัดเลือก จะต้องมีอายุระหว่าง 30-55 ปี มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและรัสเซียที่คล่องแคล่ว ต้องจบการศึกษาปริญญาตรี หรือผ่านการฝึกฝนด้านการทหาร หรือมีความเชี่ยวชาญทางสาขาอาชีพ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องผ่านการทดสอบด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และที่สำคัญต้องยินยอมพร้อมใจที่อยู่คนเดียวได้เป็นเวลา 8 เดือนถึง 1 ปีด้วย

แถลงการณ์ขององค์การนาซา ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 6 คนจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่นักบินอวกาศเผชิญในภารกิจไปดาวอังคารเพื่อนำผลการศึกษาไปวิจัยต่อ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ที่รัฐฮาวาย มีการทดสอบ HI-SEAS ให้นักวิทยาศาสตร์ 6 คนอาศัยในโถงโดมที่สร้างขึ้นบนเกาะฮาวายเป็นเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบต่อมนุษย์ในสภาวะแวดล้อมแบบปิด และมีการทดสอบลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2010 ซึ่งภารกิจดังกล่าวทุกคนจะต้องอยู่อย่างโดดเดียวยาวนานถึง 520 วัน แต่ยังสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมการทดสอบ สมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆได้อยู่ แต่จะต้องทำเหมือนกับพวกเขาอาศัยอยู่ในอวกาศ

การศึกษาการอยู่อย่างโดดเดี่ยวนี้ นาซาร่วมมือกับสถาบัน Institute of Biomedical Problems ของรัสเซีย ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องไปประจำการอยู่ในศูนย์วิจัยในกรุงมอสโกของรัสเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Analog Mission ในการศึกษาการรับมือของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศ เพื่อสรรหาวิธีและเทคโนโลยีเพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากอันตรายในอวกาศหลายด้าน ทั้ง กัมมันตรังสีในอวกาศ สภาพไร้แรงโน้มถ่วง การปรับตัวในสภาพแวดล้อมแบบปิดและเลวร้ายในอวกาศ การอยู่ห่างไกลโลก และการอยู่อย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่จำกัดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ท้าทายของชีวิตในอวกาศด้วย