ความพยายามครั้งล่าสุดขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า ในการปล่อยจรวดอวกาศ Space Launch System (SLS) ความสูงเท่าตึก 32 ชั้น ขึ้นสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ ในวันเสาร์ ที่ 3 กันยายน ต้องล้มเหลวอีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการรั่วไหลของไฮโดรเจนเหลวเย็นจัดพิเศษ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของจรวดอวกาศขนาดยักษ์ ลำนี้ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุคล้ายกับที่ทำให้ต้องมีการเลื่อนการปล่อยจรวดอวกาศครั้งแรก มาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่าน
รายงานข่าวระบุว่า มีการประกาศยกเลิกขั้นตอนเตรียมการปล่อยจรวด (Pre-flight operation) อย่างเป็นทางการ ราว 3 ชั่วโมงก่อนถึงกำหนดปล่อยจรวดเดิม ที่ตั้งเป้าไว้ที่เวลา 14.17 น.ของวันเสาร์ ที่ 3 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่พบว่าขั้นตอนการบรรจุเชื้อเพลิงขนาดเกือบ 1 ล้านแกลลอนในจรวดอวกาศความยาวกว่า 98 เมตร ได้รับความเสียหาย และมีการรั่วไหล แม้ทีมวิศวกร และฝ่ายปล่อยจรวดจะพยายามอุดรอยรั่วแล้ว แต่ไม่ได้ผล ทำให้ต้องประกาศยกเลิกดังกล่าว
มีโอกาสนำจรวดอวกาศย้อนกลับไปยังอาคารประกอบเพื่อแก้ปัญหาและซ่อมแซมเพิ่มเติม..หากเป็นเช่นนั้น ต้องเลื่อนการปล่อยจรวด (สู่ดวงจันทร์) ออกไปเป็นเดือนตุลาคมบิล เนลสัน ผู้บริหารสูงสุดองค์การNASA
องค์การนาซา ยังไม่มีการประกาศในทันที ว่าจะมีการปล่อยจรวดอวกาศครั้งต่อไปเมื่อใด แต่เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีกำหนดอีกครั้ง เป็นวันจันทร์หรือวันอังคาร ที่ 5-6 กันยายน นี้
รายงานแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ของ NASA ได้ตรวจพบและแก้ไขบริเวณปัญหา ที่ท่อเชื้อเพลิงที่รั่ว หรือ ตัวเซ็นเซอร์ตรวจอุณหภูมิที่ทำงานผิดพลาด และรอยแตกบริเวณฉนวนโฟม จนเป็นที่น่าพอใจไปแล้ว แต่กลับพบปัญหาการรั่วไหลขึ้นอีกในเช้าวันเสาร์
บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้บริหารองค์การนาซา กล่าวว่า มีโอกาสที่ต้องลำเลียงจรวดอวกาศย้อนกลับไปยังอาคารประกอบเพื่อแก้ไขปัญหาและซ่อมแซมเพิ่มเติม และหากเป็นเช่นนั้น ความพยายามในการปล่อยจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาขององค์การนาซาครั้งนี้ จะต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคม
จรวด Space Launch System (SLS) น้ำหนัก 2.6 ล้านกิโลกรัม ความสูงเท่าตึก 32 ชั้น ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 10 ปี โดยจะใช้บรรจุแคปซูล โอไรออน (Orion) ซึ่งจะมีหุ่นจำลองทีมนักบินอวกาศสามตัว และมีกำหนดโคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนกลับมายังโลกในระยะเวลา 6 สัปดาห์
โครงการสำรวจดวงจันทร์รอบใหม่ภายใต้โครงการ อาร์เตมิส (Artemis) ของนาซ่าครั้งนี้ มีกำหนดส่งมนุษย์ขึ้นไปกับจรวด ในอีกสองปีจากนี้ และหวังว่าจะสามารถนำนักบินอวกาศเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025
ครั้งสุดท้ายที่นักบินอวกาศสามารถขึ้นไปเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ เกิดขึ้นเมื่อปี 1972 หรือ 50 ปีก่อน
ที่มา: เอพี/เอเอฟพี