ยานสำรวจ Messenger กำลังสร้างประวัติศาสตร์เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธครั้งแรก

  • Jessica Berman
    ทรงพจน์ สุภาผล

ยานสำรวจ Messenger กำลังสร้างประวัติศาสตร์เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธครั้งแรก

หลังจากเดินทางในอวกาศเป็นเวลายาวนานมากกว่า 6 ปีเป็นระยะทางเกือบ 5 พันล้านไมล์ ยานสำรวจ Messenger ขององค์การ NASA มีกำหนดจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธในคืนวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคมตามเวลาในสหรัฐ หรือเช้าวันศุกร์ที่ 18 มีนาคมตามเวลาในประเทศไทย และจะเป็นยานอวกาศลำแรกที่สร้างประวัติศาสตร์โคจรรอบดาวพุธได้เป็นผลสำเร็จ

การเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธคือภารกิจสำคัญชิ้นสุดท้ายของยานสำรวจ Messenger ซึ่งองค์การ NASA ส่งออกสู่อวกาศเมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว จากการเดินทางเป็นระยะทางหลายพันล้านไมล์จากโลกไปยังส่วนในสุดของระบบสุริยจักรวาล ยานสำรวจ Messenger ได้เก็บภาพโลก ดาวศุกร์ และดาวพุธในมุมต่างๆเพื่อใช้ศึกษาเรื่องราวของดาวเคราะห์และการก่อกำเนิดของเอกภพ

คุณ Sean Soloman แห่งสถาบัน Carnegie ในกรุงวอชิงตัน หัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบภารกิจของยานสำรวจ Messenger กล่าวว่าเมื่อยานสำรวจ Messenger สร้างประวัติศาสตร์เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธเป็นผลสำเร็จ นักวิทยาศาสตร์จะสามารถสังเกตุและศึกษาส่วนในสุดของระบบสุริยจักรวาลได้เป็นครั้งแรก โดยภาพถ่ายดาวพุธในระยะใกล้ที่สุดเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ บันทึกได้จากยานสำรวจ Mariner 10 ซึ่งโคจรผ่านดาวพุธเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธ

ในภารกิจครั้งสำคัญนี้ ยานสำรวจ Messenger จะเริ่มลดระดับความเร็วลง 15 นาทีก่อนเข้าสู่วงโคจร ด้วยการเผาทำลายเครื่องยนต์หลักให้แรงขับเคลื่อนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ซึ่งจะทำให้ความเร็วชะลอลงเหลือ 862 เมตรต่อวินาทีเพื่อเลื่อนเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอาจต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงกว่าจะยืนยันได้ว่ายานสำรวจ Messenger เข้าสู่วงโคจรสำเร็จหรือไม่

หากสำเร็จ ยานสำรวจ Messenger จะโคจรรอบดาวพุธซึ่งมีขนาดเล็กพอๆกับดวงจันทร์ของโลกเรา โดย 1 วงโคจรเท่ากับเวลาบนโลกประมาณ 12 ชม. และจะเก็บภาพดาวพุธในระยะใกล้รวมถึงบริเวณขั้วเหนือและใต้ของดาวพุธเพื่อไขปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการทราบมาตลอดเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดดวงนี้ ปริศนาที่ว่านั้นก็เช่นมีแผ่นน้ำแข็งปกคลุมปล่องภูเขาไฟบริเวณขั้วที่อยู่ในส่วนที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์อย่างถาวรหรือไม่

คุณ Sean Soloman กล่าวว่าบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวพุธมีอุณหภูมิแตกต่างกันระหว่างกลางวันกับกลางคืนถึง 600 องศาเซนติเกรดซึ่งเป็นเรื่องประหลาด และขัดแย้งกับความจริงที่ว่าดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและมีอุณหภูมิตอนกลางวันร้อนมาก แต่กลางคืนกลับเย็นจัดจึงเชื่อว่าอาจมีแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ปกคลุมขั้วของดาวพุธอยู่อย่างถาวร

นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังต้องการศึกษาว่าทำไมดาวพุธจึงมีความหนาแน่นสูงกว่าดาวศุกร์ โลกและดาวอังคารมาก รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติภูมิศาสตร์ ลักษณะแกน สนามแม่เหล็กและกลุ่มก๊าซที่ปกคลุมดาวพุธ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เข้าในถึงการก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพมากยิ่งขึ้น

คุณ Soloman ระบุว่ายานสำรวจ Messenger จะเริ่มส่งภาพถ่ายดาวพุธกลับมายังโลกตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ และจะโคจรรอบดาวพุธต่อไปอีกราว 1 ปีหรือนานกว่านั้นหากเชื้อเพลิงไม่หมดเสียก่อน พร้อมทั้งบอกว่าเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ของ NASA พร้อมแล้วกับการสำรวจส่วนในสุดของสุริยจักรวาล ในที่ที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน