เมียนมา-ทะเลจีนใต้: ปมระอุรับลาวนั่งประธานอาเซียน

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย (ซ้าย) ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนไปยังสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว ในงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อ 7 กันยายน 2023 (ที่มา: Pool Photo via AP)

เอพีคุยกับนักวิเคราะห์ มองกรณี สปป. ลาว ที่ขึ้นรับประธานเวียนของอาเซียนปีนี้ เจอโจทย์หินทั้งรอยร้าวจีน-ชาติอาเซียนในทะเลจีนใต้ และวิกฤตสู้รบในเมียนมา ชี้ มีช่องทางสร้างบทบาท แต่ความสนิทสนมกับจีนอาจเป็นตัวแปรสำคัญ

ในสุดสัปดาห์นี้ เมืองหลวงพระบางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) จะเป็นสถานที่รับรองรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังรับไม้ตำแหน่งประธานต่อจากอินโดนีเซีย

นักวิเคราะห์มองการขึ้นมาของลาว ชาติสมาชิกที่มีขนาดเล็กและยากจนที่สุด ในแง่การคลี่คลายปัญหาร้อนเหล่านี้ในทางที่ไม่ค่อยดีนัก

ชาเฟียห์ มูฮิบัต ผู้เชี่ยวชาญจากอินโดนีเซีย ที่ศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ( Centre for Strategic and International Studies) ระบุว่า ปีที่แล้ว อินโดนีเซีย ก็ไม่มีความคืบหน้ามากเท่าที่คาดหวังกันในการคลี่คลายประเด็นเมียนมาและทะเลจีนใต้ และเมื่อ “อินโดนีเซียเลื่อนไปยังลาว ผมคิดว่าความคาดหวังก็ค่อนข้างต่ำ ในแง่ที่ว่าลาวจะทำอะไรได้จริง ๆ บ้าง”

ในประเด็นเมียนมา นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021 อาเซียนได้ตอบสนองด้วยการมี “ฉันทามติ 5 ข้อ” แนวทางสู่สันติภาพที่ประกอบด้วยการหยุดยิงชั่วคราวทันที การให้ตัวแทนอาเซียนเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างคู่กรณี และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารไม่ได้ให้ความสำคัญกับฉันทามติ 5 ข้อ และความพยายามของอินโดนีเซียในการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมียนมาถึง 180 ครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้นำไปสู่มรรคผลอะไร ในขณะที่การสู้รบก็ทวีความดุเดือดขึ้น

มูฮัมหมัด ไฟซาล จากสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies ประเทศสิงคโปร์ กล่าว่า “จริง ๆ แล้วอาเซียนมีแต้มต่อที่น้อยมากในเรื่องเมียนมา เมียนมาไม่ได้ใส่ใจอาเซียนเลย” และว่า “พวกเขา (เมียนมา) ไม่เอาอะไรกับฉันทามติ 5 ข้อ”

ในช่วงที่อินโดนีเซียดำรงตำแหน่งประธาน ได้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษของอาเซียนไว้ และยังมีกลไก ‘ทรอยกา’ ที่มีสมาชิกมาจากชาติที่เพิ่งลงจากตำแหน่งประธาน ประธานปีปัจจุบัน และประธานในปีหน้า ที่ทำงานให้เกิดความต่อเนื่องในประเด็นเมียนมา และนักการทูตของลาวก็ได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำของเมียนมามาแล้ว

ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศลาว ที่ปัจจุบันทำงานให้กับศูนย์ Asia-Pacific Center for Security Studies ในรัฐฮาวาย มองว่าลาวสามารถใช้กลไกทรอยกาเพื่อเสริมแรงการทำงาน ดีกว่าที่จะดำเนินการอะไรเพียงผู้เดียว

ด้านไฟซาลกล่าวกับเอพีว่า ลาวคงจะไม่มีมาตรการอะไรกับรัฐบาลทหารเมียนมาด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องการความมั่งคงปลอดภัยในพื้นที่แดนต่อแดนของกันและกัน และคิดว่าผลประโยชน์ของลาวที่แท้จริง คือการทำให้รัฐบาลทหารในเมียนมายังคงมีอำนาจต่อไป

ปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมากำลังรับมือกับระลอกการโจมตีจากกลุ่มพันธมิตรสามฝ่าย รวมถึงกองกำลังติดอาวุธในหลายพื้นที่ ขณะที่จีนก็ถูกมองว่าให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรโดยอ้อม เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แต่อีกทางหนึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็มีอิทธิพลกับกองทัพเมียนมาเช่นกัน

ในแง่ความสัมพันธ์กับจีน ลาวถือว่าเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลปักกิ่ง จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าจีนที่ย้ำจุดยืนไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น ๆ จะถูกเมียนมา หรือลาว ดึงเข้ามามีบทบาทอะไรหรือไม่

ขณะเดียวกัน จีนก็มีการขยายอิทธิพลในพื้นที่ทะเลจีนใต้ จนทำให้สมาชิกอาเซียนที่อ้างสิทธิ์ในพื้นที่อย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน กลายเป็นคู่พิพาทในน่านน้ำที่สำคัญที่สุดสำหรับการค้าโลกแห่งหนึ่ง

เรือยามชายฝั่งของจีน ขวางเรือยามชายฝั่งของฟิลิปปินส์ ที่กำลังจะมุ่งหน้าไปยังสันดอนโธมัสที่ 2 ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ เมื่อ 22 สิงหาคม 2023 (ที่มา: AP)

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จีนย้ำว่าจะยังใช้มาตรการทางทหารกดดันฟิลิปปินส์ คู่กรณีในทะเลจีนใต้ต่อไป หลังมีการกระทบกระทั่งกันในท้องทะเลที่จีนใช้เลเซอร์และปืนฉีดน้ำแรงดันสูงของกองทัพใส่เรือยามชายฝั่งและเรือเสบียงของฟิลิปปินส์ ทำให้ฟิลิปปินส์ตอบโต้ด้วยการประท้วงทางการทูตหลายยก และยังแสดงความน้อยใจที่ชาติอาเซียนไม่สนับสนุนตนเองมากพอ

ไฟซาล จาก S.Rajaratnam School of International Studies ประเทศสิงคโปร์ คาดการณ์ว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ทะเลจีนใต้ในปีที่ลาวเป็นประธานอาเซียน เนื่องจากติดหนี้จีนจำนวนมากจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบรถไฟความเร็วสูง

ไฟซาลกล่าวว่า “เขา (ลาว) จะตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างหนักจากจีน เพราะลาวพึ่งพาจีนแทบจะทุกด้าน” และเชื่อว่า “ลาวคงจะพยายามคงไว้ซึ่งสภาวะดั้งเดิม ไม่ทำอะไรเพิ่ม เพียงแค่รักษาอะไรที่เป็นอยู่ในตอนนี้”

  • ที่มา: เอพี