สหรัฐฯ ประณามเมียนมาสังหารผู้ประท้วง - เรียกร้องปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม

People flee to safety during an anti-coup protest in Loikaw, Myanmar March 9, 2021 in this still image obtained by Reuters ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. NO RESALES. NO ARCHIVES.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันพุธ กองกำลังความมั่นคงเมียนมายิงแก๊สน้ำตาและเข้าล้อมผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารหลายร้อยคนในสองเขตของนครย่างกุ้ง ตามการระบุของพยาน โดยสถานทูตสหรัฐฯ ในเมียนมาเรียกร้องให้กองกำลังดังกล่าวถอนตัวออกมา

ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อออกแถลงการณ์เพื่อประณามรัฐประหารในเมียนมา และขู่ว่าอาจใช้ “มาตรการเพิ่มเติม” หากกองทัพเมียนมายังไม่หยุดการปราบปรามประชาชน

บรรดาเจ้าหน้าที่การทูตระบุว่า ประเทศสมาชิกยูเอ็นจะยังคงหารือเพื่อออกแถลงการณ์ต่อไป หลังจากเมื่อวันอังคาร จีน รัสเซีย อินเดีย เวียดนาม แนะนำให้มีการแก้ร่างแถลงการณ์ที่เสนอโดยอังกฤษ รวมถึงให้มีการนำคำที่อ้างอิงถึงรัฐประหารออกไป และไม่ให้มีการขู่ดำเนินการเพิ่มเติมออกไป

เมื่อวันพุธ ตำรวจบุกเข้าบริเวณบ้านพักของเจ้าหน้าที่การรถไฟและเข้าล้อมผู้ประท้วงหลายร้อยคนในเขตออกกะลาปาเหนือ ในนครย่างกุ้ง โดยพยานระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมกว่า 100 คนจากบริเวณที่ตำรวจปิดล้อมทั้งสองจุดในนครย่างกุ้ง

Railway workers, participants of a 'civil disobedience movement' (CDM) against the military takeover of power leave their government provided houses with their belongings as riot policemen watch in Yangon, Myanmar, March 10, 2021.

เจ้าหน้าที่การรถไฟจำนวนมากเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ทำให้การดำเนินกิจการของรัฐขัดข้อง พวกเขารวมตัวกันหยุดงานเช่นเดียวกับพนักงานตามธนาคาร โรงงาน และร้านค้าต่าง ๆ นับตั้งแต่กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

สถานทูตสหรัฐฯ ในเมียนมา ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางสถานทูตได้รับรายงานที่กองกำลังความมั่นคงปิดล้อมจับกุมผู้ประท้วง นักเรียนนักศึกษา และพลเรือน และเรียกร้องให้กองกำลังดังกล่าวถอนตัว ปล่อยผู้ถูกคุมขัง และอนุญาตให้ประชาชนออกจากบริเวณดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย

ทางด้านเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังไม่ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวโดยทันที

สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง


กองกำลังความมั่นคงเมียนมาใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงทั่วประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร ผู้ประท้วงกว่า 60 คนถูกสังหาร และอีก 1,900 คนถูกจับกุม

เมื่อวันอังคาร นายจอ เมียต ลินน์ สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง โดยไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด เขาเป็นสมาชิกพรรคคนที่สองที่เสียชีวิตในที่คุมขังในรอบเพียงสองวัน

นายบา มโย เธียน อดีตวุฒิสมาชิก ระบุว่า นายจอ เมียด ลินน์ เข้าร่วมประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยเขาเรียกร้องให้ประชาชนต่อสู้กับกองทัพ “แม้จะต้องแลกมาด้วยชีวิตก็ตาม” ในการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กก่อนที่เขาจะถูกจับกุม

เพจเฟซบุ๊กของพรรคเอ็นแอลดีโพสข้อความเมื่อวันอังคาร ระบุว่า ได้มีการแต่งตั้งให้มาห์น วิน เข่ง ทัน อดีตประธานวุฒิสภา เป็นรักษาการรองประธานาธิบดีเพื่อดำเนินภารกิจของประธานาธิบดีวิน มินต์ และนางออง ซาน ซูจี ที่ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่ามาห์น วิน เข่ง ทัน อยู่ที่ใด

ทางการเมียนมาปราบปรามสื่อ

เมื่อวันอังคาร ตำรวจเมียนมาเข้าปราบปรามสื่ออิสระ โดยบุกเข้าสำนักงานของสื่อสองแห่งและจับกุมผู้สื่อข่าวสองคน สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 35 คนถูกจับกุม โดยมีผู้สื่อข่าวถูกปล่อยตัวแล้ว 19 คน

ขณะเดียวกัน บทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง และเอกสารชั้นความลับของตำรวจอินเดีย ระบุว่า ตำรวจเมียนมาบางส่วนไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้ยิงไปยังผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ โดยพวกเขาหนีไปยังอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา

Tha Peng, a Myanmar national who said he was a police officer and recently fled to India shows his photograph in his phone wearing a police uniform following his interview with Reuters at Champhai town in India's northeastern state of Mizoram near the Ind


เจ้าหน้าที่ตำรวจสี่คนระบุในแถลงการณ์ร่วมถึงตำรวจในรัฐมิโซรัมของอินเดียว่า พวกเขาได้รับคำสั่งให้ยิงผู้ประท้วง ในขณะที่การประท้วงต่อต้านรัฐประหารขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาทำใจยิงประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติไม่ได้

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันอังคารว่า สหรัฐฯ "รับไม่ได้” ที่กองทัพเมียนมาใช้กำลังกับประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา “ระงับการกระทำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด”

กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่พรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แม้ว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาจะไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ตาม โดยกองทัพเมียนมาระบุว่าจะมีการจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะจัดเมื่อใด

เอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้รับ ระบุว่า กองทัพเมียนมาจ้าง อะริ เบน-เมนาเช นักล็อบบี้สัญชาติอิสราเอล-แคนาดา และบริษัทของเขา ดิคเคนส์ แอนด์ แมดสัน แคนาดา (Dickens & Madson Canada) ด้วยเงิน 2 ล้านดอลลาร์เพื่อ “ช่วยอธิบายสถานการณ์ที่แท้จริง” ของการทำรัฐประหารในเมียนมา ให้สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ได้รับทราบ

ข้อตกลงระบุว่า เบน-เมนาเช และบริษัทดังกล่าว จะเป็นตัวแทนของรัฐบาลทหารเมียนมาในกรุงวอชิงตัน และจะทำหน้าที่ล็อบบี้ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล รัสเซีย และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ยูเอ็น เป็นต้น