Your browser doesn’t support HTML5
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล แต่ตัวหัวหน้าพรรคคือนางออง ซาน ซูจี นั้น ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคณะทหารพม่า กำหนดไว้ว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดีพม่า ต้องไม่มีคู่ครองหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ
รัฐสภาพม่าจะลงมติเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ และ รอง ปธน. อีกสองคน ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ในวันที่ 1 เม.ย โดยทั้งสภาสูง สภาล่าง และกองทัพพม่า จะเลือกผู้ที่มีโอกาสดำรงตำแหน่งดังกล่าวขึ้นมาอย่างละ 1 คน จากนั้นผู้ที่ได้รับเสนอชื่อจากทั้งสามฝ่าย จะต้องแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำทั้งสามตำแหน่งนั้น
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะเปิดเผยชื่อผู้ที่ได้รับเสนอให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพม่าในช่วงกลางเดือนหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่การประกาศเป็นไปอย่างล่าช้าอาจเป็นเพราะความพยายามยืดเวลาการเจรจาต่อรองระหว่างนางซูจีกับคณะทหารพท่าออกไป
ที่ผ่านมานางซูจีได้หารือกับผู้บัญชาการทหารบกของพท่า พลเอกมิน อ่อง ฮเลียง หลายครั้ง เกี่ยวกับโครงสร้างรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจรวมถึงการยินยอมให้นางซูจีสามารถนั่งในตำแหน่ง ปธน. ได้ด้วย
เมื่อวานนี้ มีรายงานข่าวหลายชิ้นจากสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลพม่า ระบุว่าอาจมีข่าวดีเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องการยกเว้นมาตรา 59 ชั่วคราว ซึ่งยิ่งทำให้ข่าวลือว่านางซูจีจะได้เป็น ปธน. นั้น แพร่กระจายไปมากยิ่งขึ้น แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือทหารที่ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้
ด้านคุณคิน ซอว์ วิน แห่งสถาบัน Tampadipa กล่าวหาว่าพรรค NLD เป็นผู้ปล่อยข่าวลือนี้เอง และยังพยายามปกปิดความลับทุกอย่างเกี่ยวกับรัฐสภาชุดใหม่ของพม่า
ขณะที่หนึ่งในสมาชิกอาวุโสของพรรค NLD ที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับวีโอเอว่าอย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะมีชื่อนางซูจี อยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เป็น ปธน. ในการประกาศเดือนหน้า
และคุณ Tpm Lambert แห่งสถาบัน Andaman Research and Advisory เห็นด้วยว่าข่าวลือที่สะพัดอยู่ในพม่าขณะนี้ควรรับฟังกันอย่างระมัดระวัง เพราะอย่างน้อยทางทหารเองยังไม่เคยมีทีท่าว่าจะยินยอมให้นางซูจีขึ้นเป็น ปธน.
การปรับแก้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของพม่าอย่างถาวร ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 75% จากทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาพม่า ก่อนที่ขะเข้าสู่ขั้นตอนการลงประชามติ แต่ในขณะที่กองทัพพม่าครองที่นั่งอยู่ 25% ในรัฐสภา จึงหมายความว่าพรรค NLD จะไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ หากกองทัพไม่ยินยอม
อย่างไรก็ตาม รายงานใน นสพ.ท้องถิ่นฉบับหนึ่งกล่าวอ้างว่า นางซูจีได้ต่อรองเพื่อมอบตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้กับทางกองทัพ เพิ่มเติมจากตำแหน่ง รมต. 3 ตำแหน่งที่ถูกกันไว้ให้คณะทหารพม่าตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นข้อเสนอที่คณะทหารพม่าไม่อยากปฏิเสธ เมื่อพิจารณาจากความพ่ายแพ้ถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งกองทัพพม่าเองก็ต้องการรักษาฐานที่มั่นทางการเมืองของตนเองไว้ให้มั่นคงที่สุดเช่นกัน
แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ผู้ติดตามการเมืองพม่าก็คงต้องอดใจรอดูว่า ข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วพม่าขณะนี้จะกลายเป็นความจริงหรือไม่!
(ผู้สื่อข่าว Katie Arnold รายงานจากนครย่างกุ้ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)