รัฐสภาพม่ามีมติเลือก "ถิ่น จอ" คนสนิทของนางซูจี เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า

Htin Kyaw and Aung San Suu Kyi

แต่กองทัพพม่ายังมีอำนาจในรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กันที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาไว้ให้บุคคลจากกองทัพ รวมทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง

Your browser doesn’t support HTML5

Myanmar

นายถิ่น จอ อดีตข้าราชการพม่าและสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ที่มีนางออง ซาน ซูจี เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเสียงสนับสนุน 360 เสียงจากทั้งหมด 652 เสียงในรัฐสภา ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า

ถิ่น จอ มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาพม่า แต่เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่นางซูจีไว้ใจที่สุด โดยนางซูจีบอกว่าตนรู้จักกับ ถิ่น จอ มาตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม และเธอเป็นผู้เสนอชื่อเขาให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศพม่าด้วยตัวเอง หลังจากที่ตัวนางซูจีไม่สามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญพม่าฉบับที่ร่างขึ้นโดยผู้นำทหาร ระบุไว้ว่าผู้ที่มีคู่ครองหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติจะไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้

อย่างไรก็ตาม นางซูจียืนยันว่าเธอยังจะทำหน้าที่ดูแลด้านการบริหารอยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีคนใหม่ผู้นี้

ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีคำแถลงอย่างเป็นทางการ แสดงความกังวลต่อบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตยที่ประชาชนควรมีโอกาสเลือกผู้นำที่ตนต้องการ และว่าชาวพม่าควรมีสิทธิ์ตัดสินได้ว่า ต้องการให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด เพื่อแก้ไขบทบัญญัตินั้น

ปัจจุบันกองทัพพม่ายังคงมีอำนาจในรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญพม่าฉบับนี้ได้กันที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาไว้ให้บุคคลจากกองทัพ รวมทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง

ขณะที่พลเอกหมิ่น ฉ่วย ตัวแทนจากกองทัพพม่าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีคะแนนเสียงตามมาเป็นที่สองจากผู้สมัครทั้งหมดสามคน จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งของพม่าด้วย โดยพลเอกหมิ่น ฉ่วย ผู้นี้ยังมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าคนอเมริกันไม่สามารถทำธุรกิจกับอดีตผู้นำทหารผู้นี้

นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังวลว่า การที่บรรดาผู้นำทหารยังคงมีอำนาจในรัฐบาลและรัฐสภาชุดใหม่ของพม่า อาจทำให้ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวกและการคอรัปชั่นจะยังปกคลุมไปทั่วพม่า

แต่หลังจากการประกาศชื่อประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อวันอังคาร บรรดาสมาชิกรัฐสภาจากพรรค NLD และจากพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคของกองทัพพม่า ต่างรับปากว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขความท้าทายต่างๆ ที่พม่ากำลังเผชิญ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพม่า รวมถึงการสร้างสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ

ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ 2011 ได้มีความคืบหน้าไปมากในการจัดทำข้อตกลงสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย ถึงกระนั้นก็ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นประปรายระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม

และเชื่อว่าประเด็นการสร้างสันติภาพระหว่างกลุ่มต่างๆ จะถือเป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลพม่าชุดใหม่ ที่จะเริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการวันที่ 1 เมษายนนี้

(ผู้สื่อข่าว Steve Herman รายงานจากกรุงเนปิดอว์ของพม่า / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)