Your browser doesn’t support HTML5
หลังจากที่สื่อรัสเซียรายงานว่า รัฐบาลเมียนมามีแผนที่จะซื้อเครื่องบินรบ รุ่น SU-30 จำนวน 6 ลำจากรัสเซีย สหรัฐฯ แสดงความกังวลในเรื่องนี้
แม้รัฐบาลเมียนมาไม่แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าว แต่สื่อท้องถิ่นระบุว่ามูลค่าการซื้อเครื่องบินรบครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์
ทางการรัสเซียกล่าวว่า เครื่องบินรบเหล่านี้จะทำหน้าที่หลักในการปกป้องดินแดน และต่อสู้กับภัยก่อการร้ายของเมียนมา
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เฮเธอร์ นูเอิร์ท กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 25 มกราคม ว่าแผนซื้อเครื่องบินครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ต่อเนื่องของรัสเซีย ในการช่วยติดอาวุธให้กับกองทัพที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
เธอกล่าวว่า รัสเซียเคยบอกว่ารัฐบาลเครมลิน สนับสนุนการเจราจาเพื่อหาทางออกในวิกฤตชาวโรฮิงจะในเมียนมา แต่ถ้าข่าวเรื่องขายเครื่องบินรบให้เมียนมาเป็นความจริง จะถือว่าสิ่งที่รัสเซียพูดและทำนั้น ขัดกัน
ความรุนแรงในแคว้นยะไข่จากการปราบปรามคนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงจะที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ที่ผู้เดือดร้อนจำนวน เกือบ 7 แสนคนต้องอพยพเข้าไปบังคลาเทศซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา
ก่อนที่เมียนมาจะเลิกระบบเผด็จการทหาร รัฐบาลให้ความสำคัญต่องบประมาณกลาโหมเหนือการใช้จ่ายด้านระบบการศึกษาและการดูแลสุขภาพ
สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน เมียนมากันเงินงบประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์ เพื่อการใช้จ่ายด้านกลาโหม ถือว่าเป็นกระทรวงที่ได้เงินมากเป็นอันดับสาม รองจากงบการคลังและพลังงาน
แม้ว่างบประมาณทหารจะลดลงจากปีก่อนหน้านี้เล็กน้อย แต่ยังมากกว่าของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงศึกษาธิการ
นักศึกษาเดินขบวนประท้วง เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ประชาชนในเมียนมาทราบข่าวเรื่องแผนซื้อเครื่องบินจากรัสเซีย โดยนักศึกษา 40 คนที่ร่วมการต่อต้านการซื้อเครื่องบินและบุกเข้าห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย ถูกไล่ออกจากสถาบัน
เมื่อเดือนตุลาคม รัฐบาลเมียนมาลงนามรับรองข้อตกลงต่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ภายใต้ความตกลงดังกล่าว ซึ่งมีบังคับใช้วันที่ 6 มกราคม รัฐบาลต้องทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิด้านการรับบริการด้านสุขภาพและการศึกษาของประชาชาชน
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Oliver Slow)