กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผย รัฐบาลทหารเมียนมาสกัดกั้นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นหลายพันครัวเรือน จากเหตุสู้รบนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ยังชีพ เพื่อพยายามสกัดกั้นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร
สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ระบุว่า การสู้รบระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ทำให้ครอบครัวต้องอพยพออกจากเมืองและหมู่บ้านมากขึ้นในทุกๆ เดือน นับจนถึงต้นเดือนนี้ มีผู้พลัดถิ่นกว่า 284,000 คนจากเหตุความรุนแรงหลังรัฐประหาร
ผู้พลัดถิ่นส่วนมากมาจากพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน
องค์กรช่วยเหลือท้องถิ่นและนานาชาติพยายามจัดส่งอาหารและยาไปยังครอบครัวต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาโรคภัยไข้เจ็บและการขาดอาหาร อย่างไรก็ตาม พวกเขาระบุว่า ทหารและตำรวจทำให้การจัดส่งยากลำบากมากขึ้น ด้วยการปิดกั้นถนน ยึดและทำลายปัจจัยที่เตรียมจัดส่ง และจับกุมเจ้าหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้
อีเมอร์ลีนน์ จิล รองผู้อำนวยการวิจัยประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวกับวีโอเอว่า กองทัพพยายามตัดการขนส่งปัจจัยไปยังกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน และยังตัดการขนส่งปัจจัยสำคัญไปยังประชาชน โดยกองทัพกระทำการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ
เมื่อวันศุกร์ แอมเนสตี้ยังได้ออกรายงานสรุปเกี่ยวกับการจำกัดการช่วยเหลือ โดยรวบรวมบทสัมภาษณ์ครอบครัวพลัดถิ่น เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือท้องถิ่น และอาสาสมัคร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยูเอ็นกล่าวถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมาว่า การไม่อนุมัติหรือยืดเวลาอนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าเมียนมาด้วย และการตรวจสอบปัจจัยช่วยเหลือและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือมากขึ้น ทำให้ปฏิบัติการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก และทำให้ประชาชนทุกข์ทรมานนานขึ้น
กลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศต่างแสดงความเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น เชย์นา บอชเนอร์ นักวิจัยด้านเอเชียของฮิวแมน ไรทซ์ วอทช์ ระบุว่า หลายพื้นที่ในเมียนมามีทหารเพิ่มขึ้น มีจุดตรวจมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือถูกคุกคามมากขึ้น ถูกจับกุมและคุมขัง รถขนส่งปัจจัยไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ และสิ่งของถูกยึด
กลุ่มสิทธิเหล่านี้ระบุว่า การปิดกั้นการช่วยเหลือนี้ ทำให้กลุ่มต่อต้านติดอาวุธเข้าไม่ถึงทั้งอาหาร เงินทุน ข่าวกรอง และการเปิดรับสมาชิกใหม่ เนื่องจากการปิดกั้นความช่วยเหลือทำให้ชุมชนโดยรอบถูกตัดขาด ซึ่งชุมชนเหล่านี้อาจเห็นอกเห็นใจและให้การสนับสนุนกลุ่มกองกำลังเหล่านี้ได้ และทำให้ประชาชนตกเป็นเป้าของการลงโทษโดยกองทัพเมียนมาไปด้วย
ทั้งนี้ รัฐชีนและรัฐซะไกง์ ซึ่งเป็นรัฐทางตะวันตกมีชายแดนติดกับอินเดีย เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบมากที่สุด โดยยูเอ็นระบุว่า การปะทะในพื้นที่ดังกล่าวทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 80,000 คน นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร
ซาไล ซา อุก ลิง รองผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิมนุษยชนรัฐชีน ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงตัดขาดหลายพื้นที่ของรัฐชีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถขนส่งความช่วยจากภายในประเทศได้
เขาระบุว่า ทางการเมียนมาอนุญาตให้ยูเอ็นส่งความช่วยเหลือไปยังเมืองหลักไม่กี่เมือง แต่ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปยังบริเวณภูเขาโดยรอบเพื่อช่วยเหลือครอบครัวพลัดถิ่นได้ โดยความพยายามร้องขอขององค์กรต่างๆ เพื่อเข้าช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้ ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนผู้ที่พยายามหลบจุดตรวจเพื่อส่งความช่วยเหลือก็ถูกจับกุมหรือสูญหายไป
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงานของซาไล ซา อุก ลิง พยายามลักลอบนำข้าว ถั่วเลนทิล และน้ำมันปรุงอาหารจากอินเดีย นำไปให้ครอบครัวพลัดถิ่นตามชายแดนอินเดีย แต่ความพยายามก็ไม่เป็นผล และผู้พลัดถิ่นบางส่วนเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถไปคลีนิคหรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ และเนื่องจากกองกำลังความมั่นคงไม่อนุญาตให้ส่งอาหารและยาไปยังพวกเขาได้
จิล รองผู้อำนวยการวิจัยของแอมเนสตี้ เตือนว่า ยอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐบาลทหารเมียนมายังขัดขวางการเข้าถึงความช่วยเหลือ โดยพวกเขาอาจเสียชีวิตจากความหิวโหย การเข้าไม่ถึงบริการที่จำเป็น สาธารณสุข และความช่วยเหลือพื้นฐานด้านอื่นๆ
วีโอเอไม่สามารถติดต่อโฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอทราบความเห็นได้