การสู้รบในพม่าส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กนักเรียนชนกลุ่มน้อย

Your browser doesn’t support HTML5

Myanmar Education Reform Challenged by Conflict, Cultural Identity

การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกลุ่มชนเผ่าติดอาวุธในพม่า ทำให้เด็กนักเรียนนับหมื่นในประเทศไม่ได้ไปโรงเรียน โดยเฉพาะในบริเวณชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาล

ปัญหาเรื่องนี้เป็นหนึ่งในปัญหาท้าทายต่างๆ ที่รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของพม่ากำลังพยายามจะแก้ไข ในขณะที่กำลังพยายามจะปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ

โรงเรียนในรัฐฉานถูกสั่งปิดมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน เมื่อทหารรัฐบาลเริ่มการรณรงค์ครั้งล่าสุดที่นั่น เด็กนักเรียนนับหมื่นๆ คนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่มีบ้างที่โชคดี อย่างเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งในห้องเรียนที่ครูจัดขึ้นหลังร้านขายของ

Nang Zin Oo นักเรียนหญิงผู้หนึ่งบอกผ่านล่ามว่า เธอตั้งเป้าไว้ว่าจะมุเรียนให้จบชั้นมัธยมให้ได้ แม้จะต้องคอยหลบเลี่ยงสงครามก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสู้รบที่ดำเนินอยู่ทำให้ขาดสมาธิได้ อย่างที่ Sai Aung Muang บอก นักเรียนผู้นี้บอกด้วยว่า เป็นห่วงพ่อและแม่มาก เพราะถ้ามีการยิงต่อสู้ใกล้กับหมู่บ้านที่พ่อแม่อยู่ ก็ต้องระวังลูกหลงให้ดี

อุปสรรคอีกอันหนึ่งสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของพม่าในความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาในบริเวณชนเผ่า คือ ยังมีการใช้ภาษาของชนเผ่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชนเผ่ายังไม่มีความไว้วางใจรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาลทหารชุดก่อนที่พยายามจะให้ชนเผ่าปรับตัวเป็นชาวพม่า

ชาวไทยใหญ่ในรัฐฉานอย่างครู Nang Jam Kham ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ว่านั้นอย่างเต็มที่ ครู Nang Jam Kham บอกว่าภาษาไตหรือภาษาไทยใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชนชาติของชาวไต และจะต้องยึดถือกันไว้ให้ได้

รัฐบาลชุดใหม่ของพม่าซึ่งมีนาง ออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำ กล่าวว่า กระทรวงกิจการชนเผ่าซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่จะเป็นผู้หาทางออกให้กับปัญหาเรื่องภาษา วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชนในด้านการศึกษา

แต่สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ในรัฐฉาน ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ คือความมั่นคงปลอดภัย

Sang Awn นักเรียนอีกคนหนึ่งในห้องเรียนชั่วคราวหลังร้านขายของบอกว่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป หลังจากที่เรียนจบแล้ว อาจจะไปเป็นทหารหญิงหรือเป็นหมอ ต้องขอคิดดูก่อน