เมียนมา ปัดไม่ร่วมการประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียน

FILE - Cambodian Prime Minister Hun Sen, right, shakes hands with Myanmar State Administration Council Chairman, Senior General Min Aung Hlaing, left, during after a meeting in Naypyitaw, Myanmar, Jan. 7, 2022.

FILE - Cambodian Prime Minister Hun Sen, right, shakes hands with Myanmar State Administration Council Chairman, Senior General Min Aung Hlaing, left, during after a meeting in Naypyitaw, Myanmar, Jan. 7, 2022.

รัฐบาลเมียนมาเปิดเผยว่า ตนจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในสัปดาห์นี้ หลังกัมพูชาซึ่งเป็นเจ้าภาพระบุ ขอให้ส่งผู้ที่ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมืองมาแทนเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูง

การขอเปลี่ยนตัวแทนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กัมพูชา ในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียนของปีนี้ กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการเชิญ วันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ซึ่งได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งโดยกองทัพที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว ให้เข้าร่วมการประชุมที่จะจัดขึ้นในวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้ ที่กรุงพนมเปญ

การที่อาเซียนเดินหน้าจำกัดการมีส่วนร่วมของเมียนมาในกิจการของกลุ่มสะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐบาลทหารยังไม่ยอมให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามข้อเสนอ 10 ข้อที่ทางอาเซียนนำเสนอเมื่อปีที่แล้ว ด้วยจุดประสงค์ที่จะเข้าช่วยผ่อนคลายวิกฤตการเมืองรุนแรงในประเทศสมาชิกนี้

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ของผู้นำอาเซียนที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับข้างต้น หลังจากเมียนมาปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเข้าพบ ออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจและคุมขังอยู่

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาที่ออกมาเมื่อคืนวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า “แม้ประธานอาเซียนและเมียนมาจะพยายามอย่างยิ่งในการส่งเสริมความร่วมมือในอาเซียน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งที่ทางกลุ่มยังคงตัดสินใจเช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเมียนมาเองไม่สามารถยอมรับได้” และว่า “การที่เมียนมาไม่สามารถเข้าร่วมหรือแม้แต่แต่งตั้งตัวแทนที่ไม่ได้มาจากภาคการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นการขัดกับหลักการและหลักปฏิบัติของการมีตัวแทนที่ทัดเทียมกันในอาเซียน”

เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งบรูไนเป็นประธานหมุนเวียน ปฏิเสธการเชิญ พลเอก มิน อ่อง หล่าย เข้าประชุม แต่ในปีนี้ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชาแสดงจุดยืนว่า การเชิญเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และได้เดินทางไปเยือนเมียนมาเมื่อเดือนมกราคม พร้อมกล่าวย้ำเสมอมา เกี่ยวกับความตั้งใจที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างเมียนมาและสมาชิกในกลุ่มให้ได้

Japanese Foreign Minister Yoshimasa Hayashi, left, greets with Hun Manet, Commander of the Royal Cambodian Army in Tokyo, Monday, Feb. 14, 2022. (AP Photo/Koji Sasahara)

Japanese Foreign Minister Yoshimasa Hayashi, left, greets with Hun Manet, Commander of the Royal Cambodian Army in Tokyo, Monday, Feb. 14, 2022. (AP Photo/Koji Sasahara)

ขณะเดียวกัน โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นให้การต้อนรับ ฮุน มาเนต บุตรชายของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และผู้นำกองทัพกัมพูชาซึ่งถูกมองว่าจะเป็นผู้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในอนาคต ที่กรุงโตเกียว ในวันจันทร์ และตอบตกลงที่จะให้ความร่วมมือในการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นแสดงจุดยืนที่ไม่ค่อยแข็งกร้าวเท่าใดต่อกองทัพเมียนมา เมื่อเทียบกับกรณีของรัฐบาลชาติตะวันตกที่ดำเนินมาตรการลงโทษต่อผู้นำกองทัพเมียนมามาตลอด แต่ภาพรวมของทัศนคติต่อสถานการณ์ในเมียนมาของญี่ปุ่นนั้นยังคงมีทั้งที่นิ่งเฉยและไม่เห็นด้วยอยู่ โดยดูได้จากการที่ บริษัท คิริน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์รายใหญ่ของประเทศ ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า บริษัทได้ตัดสินใจที่จะถอนธุรกิจออกจากเมียนมาและยกเลิกการทำธุรกิจร่วมทุนกับหุ้นส่วนในประเทศนี้ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพแล้ว