อิลอน มัสก์ เผยแผนตัดเงินเดือนผู้บริหารทวิตเตอร์-หารายได้เพิ่มจากข้อความ-รูปที่ถูกทวีต 

TWITTER-M&A/MUSK

อภิมหาเศรษฐี อิลอน มัสก์ เปิดเผยต่อธนาคารบางแห่งที่อนุมัติเงินกู้ให้เข้าซื้อธุรกิจทวิตเตอร์ (Twitter) ได้สำเร็จ ว่า ตนจะทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีมผู้บริหารและปรับลดค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำแห่งนี้เพื่อลดต้นทุนธุรกิจ พร้อมๆ กับดำเนินแผนหารายได้เพิ่มจากสิ่งที่ผู้ใช้งานทวีตออกมา ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ บอกกับรอยเตอร์ว่า ก่อนหน้าที่ มัสก์ จะหาเงินมาได้ถึง 44,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ได้ อภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์เทสลา (Tesla) ได้เข้าหาธนาคารหลายแห่งเพื่อกู้เงินจนพอที่จะยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน และยื่นหนังสือคำมั่นจากธนาคารผู้ปล่อยกู้ให้กับคณะกรรมการบริหารทวิตเตอร์ในวันที่ 21 เมษายน ซี่งท้ายที่สุด ได้ยอมรับสิ่งที่เรียกว่า ข้อเสนอ “สุดท้ายและดีที่สุด” นี้

รายงานข่าวระบุว่า มัสก์ พยายามเจรจากับธนาคารทั้งหลายจนยอมเชื่อว่า ธุรกิจทวิตเตอร์นั้นมีศักยภาพที่จะทำรายได้มากพอมาให้ตนใช้หนี้เงินกู้ได้แน่นอน และยอมอนุมัติเงินกู้มูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์ให้ ก่อนที่ อภิมหาเศรษฐีรายนี้จะใช้วงเงินกู้ที่ซึ่งมีหุ้นธุรกิจรถเทสลาของตนค้ำประกันอยู่ เป็นจำนวน 12,500 ล้านดอลลาร์ และเงินสดจากกระเป๋าของตนมารวมกันจนได้เงินก้อนที่เสนอให้ทวิตเตอร์ในที่สุด

แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า กลยุทธ์ที่ มัสก์ ใช้ในการระดมเงินมาซื้อธุรกิจทวิตเตอร์นั้นเป็นการใช้วิสัยทัศน์มากกว่าคำมั่นสัญญาของบริษัท ขณะที่ ยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่า เขามีเป้าจะลดต้นทุนทวิตเตอร์มากเพียงใด หลังเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัวแล้ว เนื่องจาก แผนงานที่นำเสนอกับธนาคารผู้ปล่อยกู้นั้นมีรายละเอียดไม่มาก

ก่อนหน้านี้ มัสก์ ทวีตข้อความเกี่ยวกับแผนลดเงินเดือนของสมาชิกคณะกรรมการบริหารทวิตเตอร์ ว่า น่าจะช่วยลดต้นทุนบริษัทได้ถึงราว 3 ล้านดอลลาร์

ข้อมูลที่ทวิตเตอร์นำส่งต่อตลาดหลักทรัพย์นั้นระบุว่า ค่าตอบแทนรวมที่อิงตามราคาหุ้นของบริษัทในปี ค.ศ. 2021 นั้นอยู่ที่ 630 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 33%

แหล่งข่าวยังเปิดเผยด้วยว่า เมื่อครั้งที่ มัสก์ นำเสนอแผนงานต่อธนาคารนั้น เขาได้ชี้แจงว่า อัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) ของทวิตเตอร์นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของแพลตฟอร์มชั้นนำอื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) และพินเทอเรส (Pinterest) ซึ่งหมายความว่า เขามีโอกาสสูงที่จะบริหารบริษัทโดยเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้พอควร

ทั้งนี้ แหล่งข่าวทั้งหมดขอสงวนสิทธิ์ไม่เปิดเผยตัวตน เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดยังถือว่า อยู่ในชั้นความลับ ขณะที่ ตัวแทนของอภิมหาเศรษฐีรายนี้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับรอยเตอร์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สำนักข่าว บลูมเบิร์ก นิวส์ (Bloomberg News) รายงานว่า มัสก์ กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ตนมีแผนจะลดพนักงาน ในระหว่างที่นำเสนอแผนงานต่อธนาคารเพื่อขอเงินกู้ด้วย และแหล่งข่าวแหล่งหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า มัสก์ จะไม่สรุปเรื่องการปรับลดพนักงานจนกว่าจะได้เป็นเจ้าของบริษัทอย่างเต็มตัวแล้ว

ในส่วนของแผนงานหารายได้จากรูปแบบธุรกิจของทวิตเตอร์นั้น แหล่งข่าวอธิบายว่า มัสก์ ได้ยกตัวอย่างให้ธนาคารผู้ปล่อยกู้ฟังว่า มีอาทิ การคิดเงินจากเว็บบุคคลที่ 3 ที่นำคำพูดหรือนำทวีตใด ๆ จากบุคคลหรือองค์กรที่มีการตรวจสอบแล้วว่า มีตัวตนจริง มาฝัง (embed) ในเนื้อความหรือโพสต์ใด ๆ ก็ตาม

และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มัสก์ ได้ทวีตสิ่งที่เขาวางแผนไว้ในหัวว่า จะลงมือทำเมื่อเข้าบริหารทวิตเตอร์ เช่น การปรับเปลี่ยนอัตราค่าสมัครสมาชิกระดับพรีเมียม Twitter Blue การสั่งห้ามไม่ให้มีการลงโฆษณา และการเปิดโอกาสให้มีการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล ดอจคอยน์ (dogecoin) เป็นต้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ลบทวีตชุดนี้ออกไป

และนอกจากแผนการปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจแล้ว แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มัสก์ ยังมีแผนจะเปลี่ยนทีมผู้บริหารชุดปัจจุบันออก หลังตนก้าวขึ้นมากุมบังเหียนบริษัทนี้แล้วด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์