ขณะที่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นทั่วโลกเกาะกระแสไม่ใช้ผ้าฝ้ายจากมณฑลซินเจียงของประเทศจีน แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น อย่าง มูจิ (Muji) แสดงจุดยืนไม่สนใจคำวิจารณ์กรณีการบังคับใช้แรงงานในพื้นที่ปกครองตนเองของจีน และเดินหน้าสั่งซื้อวัตถุดิบจากเขตนี้ต่อไป
หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า มูจิ ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีร้านค้าสาขาทั่วญี่ปุ่นและในอีกหลายประเทศ แสดงตนยืนเคียงข้างรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยไม่สนกระแสตามตามอย่างบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอื่นๆ และธุรกิจตะวันตกจำนวนมาก และยังคงใช้วัตถุดิบฝ้ายจากซินเจียง เขตปกครองตนเองที่มีประชากรจำนวนมากนับถือศาสนาอิสลาม และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ถูกบังคับใช้แรงงานในค่ายกักขังหลายแห่ง
รายงานข่าวระบุว่า ราวครึ่งหนึ่งของรายได้นอกญี่ปุ่นของมูจินั้นมาจากตลาดจีน ขณะที่รายได้จากสหรัฐฯ นั้นมีสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้น
แถลงการณ์ที่บริษัทเผยแพร่ออกมานั้นแสดงให้เห็นถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของบริษัทแฟชั่นต่างชาติที่ที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนอย่างชัดเจน เพราะบางครั้งบริษัทเหล่านี้ต้องเลือกว่า จะยอมทำบางอย่างเพื่อเอาใจรัฐบาลจีน หรือจะเข้าใจลูกค้าของตนในอีกหลายประเทศที่มีออกมาเตือนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท เรียวฮิน เคอิคาคุ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ มูจิ กล่าวว่า ได้สั่งให้มีการทำตรวจประเมินในพื้นกว่า 12,000 เอเคอร์ หรือราว 49 ตารางกิโลเมตร ของไร่ฝ้ายและโรงงานอื่นๆ ในมณฑลซินเจียงในปีที่ผ่านมาแล้ว และไม่พบหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านั้น ทางบริษัทกล่าวว่า การตรวจประเมินที่ว่าไม่พบปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่แก้ไขไม่ได้อีกด้วย
สื่อ นิคเคอิ เอเชีย รายงานด้วยว่า เรียวฮิน เคอิคาคุ ยืนยันในแถลงการณ์ว่า “มูจิได้รับการรับรองมาตรฐานโลกสำหรับฝ้ายและเส้นใยฝ้ายที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้สามารถระบุได้ว่า ทุกชิ้นเป็นผลิตภัณฑ์จากไร่ปลอดสาร (organic)” ทั้งยังยืนยันด้วยว่า การรับรองที่ว่านี้เป็นไปตามเงื่อนไขของพิธีสารแรงงานระหว่างประเทศของ องค์กรแรงงานสากล รวมทั้งตามหลักการการทำธุรกิจของ องค์การสหประชาชาติและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
นอกจากนั้น แถลงการณ์ของบริษัทที่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ยังระบุว่า การที่มูจิเลือกใช้ฝ้ายจากไร่ปลอดสารพิษของซินเจียงยังมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เขตนั้นด้วย
และเมื่อเข้าไปในเว็บไซท์ของมูจิ จะพบว่า ทางบริษัทมีการระบุคำว่า “ฝ้ายจากซินเจียง” สำหรับสินค้าหลายรายการด้วย และการตัดสินใจเพิ่มข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในจีนรู้สึกพอใจเป็นอย่างมาก โดยบางคนยังได้โพสต์ข้อความผ่านแอป เว่ยโป๋ (Weibo) ที่ทำหน้าที่เหมือนทวิตเตอร์ ด้วยว่า ตนรับรู้ได้ถึงความกระตือรือร้นของมูจิ ที่ต้องการจะสนับสนุนจีน
ผู้บริหารของมูจิ เปิดเผยว่า จีนนั้นคือตลาดที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท พร้อมแผนขยายร้านสาขาในประเทศนี้ให้มีมากกว่า 300 แห่งภายในเดือนสิงหาคม หลังจากหน่วยธุรกิจของตนในสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะที่ต้องยื่นเรื่องประกาศภาวะล้มละลายไปเมื่อปีที่แล้ว
ทิศทางการทำธุรกิจในจีนของมูจินั้น แตกต่างจากสภาวะที่บริษัทแฟชั่นสัญชาติตะวันตกอื่นๆ Nike และ H&M ประสบไปอย่างมาก หลังบริษัทเหล่านี้ออกมาประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า จะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง และเมื่อไม่นานมานี้ กลายมาเป็นเป้าถูกโจมตีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในจีน ที่มีการเรียกร้องให้ผู้บริโภคจีนคว่ำบาตรแบรนด์ต่างๆ ที่มีจุดยืนต่อต้านวัตถุดิบจากพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ
แต่แม้จะไม่ถูกโจมตีจากผู้บริโภคในจีน เมื่อต้นเดือนที่แล้ว นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งได้มาชุมนุมประท้วงที่หน้าที่ทำการใหญ่ของบริษัทในกรุงโตเกียว เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารหยุดซื้อฝ้ายจากซินเจียงแล้ว
ขณะที่ มูจิ แสดงจุดยืนไม่สวนกระแสต้านจีนอยู่ ธุรกิจแฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นอื่นๆ เช่น Fast Retailing ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ยูนิโคล่ และบริษัท Asics Corp พยายามหลีกเลี่ยงไม่แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบจากจีนต่อไป
โคตะ ฮิรายามา นักเศรษฐศาสตร์ จากบริษัทหลักทรัพย์ SMBC Nikko Securities ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งจะตัดสัมพันธ์กับจีนนั้น ผลเสียที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะนอกจากจะทำให้ตนเสียตลาดขนาดใหญ่ไปแล้ว ยังอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย ซึ่งแปลว่า อาจจะทำให้ทั้งยอดขายตก และชื่อเสียงด้านคุณภาพของสินค้ามีปัญหาได้ด้วย