Your browser doesn’t support HTML5
(CNN) ตามปกติแล้วผู้ปกครองจะคอยช่วยลูกๆ ทำการบ้านอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ ทำงานของตนเสร็จเรียบร้อย แต่การที่ครอบครัวต้องใช้เวลาร่วมกันยาวนานขึ้นในช่วงวิกฤติปัจจุบันทำให้มีปัญหาท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น
หลังจากที่เกิดภัยพิบัติเช่นพายุเฮอริเคน หรือไฟไหม้ ทำให้ทราบว่าการสร้างแบบแผนเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสม่ำเสมอ และการรักษาระเบียบสำหรับทั้งผู้ปกครองและเด็กๆ ซึ่งรวมไปถึงการสร้างตารางเวลา การพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางต่างๆ อย่างชัดเจน อย่างเช่นเวลาในการใช้หน้าจอของลูกๆ
แต่พ่อแม่จะมีวิธีอย่างไรที่จะให้ลูกๆ ปฏิบัติตามตารางเวลานั้น และทำงานของตนให้เสร็จเรียบร้อยโดยที่ไม่มีปากมีเสียง ไม่ระเบิดอารมณ์ และไม่มีอาการโมโห
Wendy Grolnick นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ทำงานร่วมกับผู้ปกครองในสถานการณ์ภัยพิบัติ ได้ศึกษาวิธีการที่ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กในการสร้างแรงจูงใจให้ตนเองและลดความขัดแย้งในครอบครัว และได้แนะนำกลยุทธ์บางอย่างเพื่อให้ทุกอย่างในบ้านราบรื่นขึ้นในช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัสไว้ดังนี้
ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดตารางเวลา เมื่อได้มีส่วนร่วมในการสร้างแนวทางและร่วมกำหนดเวลา พวกเขาจะเชื่อว่าแนวทางเหล่านั้นมีความสำคัญ พร้อมทั้งยอมรับ และปฏิบัติตาม
การที่จะให้ลูกๆ ได้มีส่วนร่วมนั้น พ่อแม่ควรจะจัดประชุมครอบครัว และพูดคุยเรื่องกำหนดเวลาและให้เด็กๆ ช่วยกันลงความเห็นว่าทุกคนควรจะลุกจากเตียงและเปลี่ยนเสื้อผ้าเวลาไหน ควรจะหยุดพักจากการทำการบ้านเวลาไหน และแต่ละคนควรจะอยู่ตรงไหนในช่วงเวลาที่เรียนหนังสือ
อย่างไรก็ดี ทุกคนในบ้านอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ก็จะต้องต่อรองกับลูกๆ เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นของลูกๆ บางคนมาใช้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นทักษะที่สำคัญที่เด็กๆ ควรจะเรียนรู้ และพวกเขาจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากพ่อแม่ของตน
อนุญาตให้เด็กๆ มีทางเลือก แน่นอนว่าเด็กๆ จะต้องทำการบ้านและงานบ้านให้เสร็จ แต่การมีทางเลือกบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการทำงานให้สำเร็จนั้นช่วยให้เด็กรู้สึกกดดันน้อยลงและไม่รู้สึกว่าถูกบีบบังคับซึ่งจะเป็นการทำลายแรงจูงใจของพวกเขา โดยพ่อแม่อาจจะนำเสนองานบ้านรอบๆ บ้านแล้วให้ลูกเลือกว่าต้องการทำอะไร นอกจากนี้ควรให้ลูกเลือกเวลาหรือวิธีการทำงานให้เสร็จ เช่นอยากจะล้างจานก่อนหรือหลังดูโทรทัศน์ และควรให้ลูกเลือกกิจกรรมสนุกๆ ที่ต้องการจะทำในตอนเย็น หรือในช่วงที่หยุดพักจากการเรียนหนังสือด้วย
รับฟังและให้ความเห็นอกเห็นใจ เด็กๆ จะเปิดกว้างมากขึ้นในการรับฟังในสิ่งที่ตนต้องทำหากรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจในมุมมองของตน เช่นเข้าใจว่าการที่ต้องอยู่บ้านไม่ใช่เรื่องสนุก และเข้าใจว่าลูกคิดถึงเพื่อนๆ แม้ว่าในบางครั้งพ่อแม่จะไม่เห็นด้วยกับมุมมองของลูก แต่หากแสดงความเข้าอกเข้าใจก็จะได้รับความร่วมมือจากลูกๆ เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย
ให้เหตุผลสำหรับกฎต่างๆ หากผู้ปกครองให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องขอให้ลูกทำงานบางอย่าง เด็กๆ ก็จะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้น อย่างเช่นการบอกลูกๆ ว่า สาเหตุที่ต้องแบ่งงานบ้านให้ทุกคนในครอบครัว เพราะจะทำให้ทุกคนมีเวลาสำหรับกิจกรรมสนุกๆ หลังอาหารเย็นกันมากขึ้น
แก้ไขปัญหาร่วมกัน เมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อาจมีอาการหงุดหงิด จุกจิกจู้จี้ และมีเสียงตะโกนโหวกเหวกบ้าง ผู้ปกครองอาจลองการแก้ปัญหาร่วมกับลูกๆ โดยการใช้คำพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจ หาสาเหตุของปัญหาพร้อมทั้งหาวิธีแก้ไข
ทั้งนี้ ข้อปฏิบัติเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เด็กรู้จักพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น และให้ความร่วมมือมากขึ้น
อย่างไรก็ตามกลยุทธ์เหล่านี้ต้องอาศัยเวลาและความอดทน ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจทำได้ยากในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดเช่นนี้ การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่มีแนวโน้มว่าจะเสียงดัง เรียกร้องและข่มขู่เมื่อพวกเขาเวลามีจำกัด มักจะเครียดหรือรู้สึกกังวลว่าลูกๆ จะทำตัวอย่างไร
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรหาเวลาในการดูแลและฟื้นฟูตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่น การออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรือเขียนสมุดบันทึก
การเกิดโรคระบาดใหญ่หรือภัยพิบัติอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาท้าทายสำหรับผู้ปกครอง แต่การใช้กลยุทธ์การสร้างแรงบันดาลใจจะช่วยให้พ่อแม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมที่สงบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย