อนามัยโลก ชี้ โรคจากพฤติกรรม ภัยเงียบคร่าชีวิต 41 ล้านคนทั่วโลก

  • VOA

Nurse taking blood pressure

องค์การอนามัยโลก ออกโรงเตือนว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD คร่าชีวิตผู้คนถึง 41 ล้านคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 74% ของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถป้องกันได้

รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (noncommunicable diseases - NCD) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกมากกว่าโรคติดเชื้อไปแล้ว โดยพบว่า แต่ละปี จะมีผู้คนอายุต่ำกว่า 70 ปี ราว 17 ล้านคน ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD

โดยกลุ่มโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมา คือ โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน

เบนเต มิคเคลเซน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้านโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ย้ำว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นสามารถป้องกันได้ โดยระบุว่า “ในทุก 2 วินาที จะมีผู้ที่อายุต่ำว่า 70 ปี เสียชีวิตจากโรค NCD” และว่า “หลายคนยังคงไม่รู้ว่า 86% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดขึ้นกับผู้คนในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ทำให้โรค NCD เป็นประเด็นปัญหาทั้งในด้านความเท่าเทียม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก”

องค์การอนามัยโลก ระบุ ปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรค NCD ที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถป้องกันได้ ที่น่ากังวล คือ ความดันโลหิตสูง ที่พบว่าผู้คน 1,300 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะดังกล่าว แต่หลายคนกลับไม่คิดว่าเป็นภาวะอาการที่อันตรายถึงชีวิต และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและการปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านี้ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายดังกล่าวได้

มิคเคลเซน เสนอว่า “หากผู้คนเข้าถึงบริการสุขภาพที่สามารถตรวจความดันโลหิตและเข้าถึงยารักษาได้ จะช่วยชีวิตผู้คนเกือบ 10 ล้านชีวิตจากภาวะหัวใจวายและภาวะหลอดเลือดสมองได้ ภายในปี 2030” และว่าหากทุกประเทศปรับแผนในการป้องกันโรค NCD จะลดการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกจากโรคนี้ได้อย่างน้อย 39 ล้านคน ภายในปี 2030 ด้วยเช่นกัน

  • ที่มา: วีโอเอ