Your browser doesn’t support HTML5
ทีมนักวิจัยประเมินว่ามีเพชรหนึ่งพันล้านล้านตันอยู่ใต้พื้นผิวโลก โดยใช้เทคโนโลยีสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือน (seismic technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้ในการตรวจวัดเเรงสะเทือนแผ่นดินไหว
แต่นักวิจัยบอกว่า ไม่คิดว่าจะเกิดการ 'ตื่นเพชร' เพราะเพชรเหล่านี้อยู่ลึกลงไปใต้ดินระหว่าง 90 - 150 ไมล์ ซึ่งลึกกว่าระดับที่เครื่องมือขุดเหมืองจะขุดลงไปได้
เทคโนโลยีสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือนใช้คลื่นเสียงในการประเมินเพราะความเร็วของเสียงเปลี่ยนแปลงไปตามส่วนประกอบ อุณหภูมิเเละความหนาแน่นของหินเเละเเร่ต่างๆที่เสียงวิ่งผ่าน
ลึกลงไปใต้พื้นโลก มีชั้นหินฐานธรณี (cratons) ที่รูปร่างเหมือนภูเขากลับหัว หินฐานธรณีนี้ยังเย็นกว่าเเละหนาเเน่นน้อยกว่าชิ้นหินอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ จึงทำให้คลื่นเสียงเดินทางเร็วขึ้น
เเต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตุว่า คลื่นเสียงเดินทางเร็วขึ้นไปอีกหากเคลื่อนที่ผ่านด้านล่างของหินฐานธรณีในส่วนที่เรียกว่าเป็นรากของชั้นหิน
ทีมงานได้ใช้สร้างหินจำลองขึ้นมา โดยทำขึ้นจากสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นส่วนประกอบเเละใช้แบบจำลอง 3 มิติ เเละเปรียบเทียบความเร็วของเสียงผ่านหินชนิดต่างๆ
เสียงเดินทางผ่านเพชรเร็วมากขึ้นถึงสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับหินชนิดอื่นๆ นี่ทำให้ทีมนักวิจัยคิดว่าน่าจะมีวัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งในหินฐานธรณี
ยูลริช เฟาล์ (Ulrich Faul) นักวิจัยที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์โลก ชั้นบรรยากาศเเละดาวเคราะห์แห่งสถาบันเอ็มไอที (MIT's Department of Earth, Atmospheric, and Planetary Sciences) ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสของการศึกษานี้ กล่าวว่า วัสดุที่อยู่ในหินฐานธรณีคือ เพชร เพราะมีความหนาเเน่นมากกว่าเล็กน้อย
เฟาล์ ซึ่งทำงานในห้องแลบกับทีมนักวิจัยที่ประกอบด้วยผู้ชำนาญแผ่นดินไหว ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีเคมี เเละนักวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ ได้เพิ่มปริมาณเพชรอีกเล็กน้อยในหินจำลอง จนกระทั่งอยู่ได้ส่วนประกอบที่ช่วยทำให้คลื่นเสียงมีความเร็วมากขึ้น ไปอยู่ในระดับเดียวกับที่ตรวจเจอในพื้นโลกด้วยเทคโนโลยีตรวจจับเเรงสั่นสะเทือน
เเละเมื่อทีมงานได้คำนวณดูเเล้ว พวกเขาสรุปว่าน่าจะมีเพชรถึงหนึ่งพันล้านล้านตัน ซึ่งมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดเอาไว้ถึง 1,000 เท่าตัว
เฟาล์ กล่าวว่า ถือว่าสมเหตุสมผลที่คิดว่าจุดที่ตั้งของเพชรอยู่ด้านล่างสุดของหินรากฐาน เพราะเพชรกำเนิดขึ้นได้เนื่องจากความดันเเละความร้อนในระดับสุดขั้ว ดังนั้นน้ำหนักจากหินที่อยู่ด้านบนจึงเป็นตัวช่วยสร้างสภาพที่สมบูรณ์แบบแก่การก่อกำเนิดของเพชรที่อยู่ลึกลงไปในเนื้อโลกหรือชั้นแมนเทิล (mantle)
เพชรที่คนเรานำไปผลิตเป็นสร้อยคอเพชรหรือแหวนเพชร ได้มาจากจุดที่ไม่ลึกมากจากผิวหน้าของโลกซึ่งส่วนมากเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ
ผู้มีส่วนร่วมมือในการศึกษานี้รวมถึงทีมนักวิจัยจากหลายชาติ เเละสถาบันระหว่างประเทศหลายเเห่งด้วย รวมทั้ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลี่ย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เเละมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยีเเห่งประเทศจีน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)