Your browser doesn’t support HTML5
การวัดระดับครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่าระดับรังสีบนดวงจันทร์สูงกว่าที่สถานีอวกาศนานาชาติ 2-3 เท่า
การวัดระดับดังกล่าวนี้มีขึ้นโดยใช้เครื่องมือบนยานสำรวจดวงจันทร์ Chang’e-4 ของประเทศจีน ซึ่งร่อนลงแตะบนพื้นผิวของดวงจันทร์ฝั่งที่อยู่ห่างจากโลกของเราเมื่อเดือนมกราคมปีพ.ศ. 2562
นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันและชาวจีนที่ร่วมการทดลองนี้กล่าวว่า ยานสำรวจของจีนทำการวัดระดับรังสีบนพื้นผิวของดวงจันทร์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นครั้งแรก การค้นพบนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science Advances
ทั้งนี้ การศึกษานี้เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ กำลังพัฒนาแผนการส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA มีเป้าหมายในการส่งนักอวกาศหญิงคนแรกและนักอวกาศชายคนต่อไปลงสำรวจบนดวงจันทร์ภายในปีพ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis นอกจากนี้ยังต้องการตั้งฐานระยะยาวบนดวงจันทร์ภายในปีพ.ศ. 2571 อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ปริมาณรังสีในอวกาศทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของนักบินอวกาศในอนาคต โรคมะเร็งเป็นปัญหาหลักด้านสุขภาพ แต่การได้รับรังสีอาจทำให้เป็นโรคอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
NASA ได้เตือนไว้แล้วว่าผู้เดินทางในอวกาศที่ใช้เวลานานๆ ในสถานที่อย่างเช่นดวงจันทร์หรือดาวอังคาร จะต้องเผชิญกับรังสีที่เป็นอันตรายในระดับสูง
ชั้นบรรยากาศของโลกและเกราะแม่เหล็กช่วยปกป้องมนุษย์จากระดับรังสีที่รุนแรงที่สุดในจักรวาล แต่นักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติจะได้รับรังสีในระดับที่สูงกว่าที่เราได้รับบนโลก
การศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่าระดับรังสีบนดวงจันทร์จะสูงกว่าที่สถานีอวกาศนานาชาติ 2.6 เท่า ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่านักบินอวกาศบนดวงจันทร์จะได้รับรังสีมากกว่าที่เราได้รับบนโลกอยู่ประมาณ 200 เท่า
Robert Wimmer-Schweingruber นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Kiel ในเยอรมนี ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าวกับสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศสว่าการค้นพบนี้ทำให้ทีมของเขาสามารถคาดการณ์ได้ว่านักบินอวกาศจะสามารถอยู่บนดวงจันทร์ได้ประมาณสองเดือนภายใต้สภาวะการณ์ปัจจุบัน และว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้สามารถรับมือกับระดับรังสีเหล่านี้ได้ และนักบินอวกาศควรป้องกันตัวเองเมื่ออยู่บนดวงจันทร์
เขากล่าวเพิ่มเติมว่าระดับรังสีในทุกพื้นที่ของดวงจันทร์น่าจะมีระดับเท่าๆ กัน ยกเว้นบริเวณใกล้ๆ กับผนังของหลุมอุกกาบาตลึก หรือกล่าวโดยทั่วไปคือยิ่งเห็นท้องฟ้าน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
นักวิจัยแนะนำว่านักบินอวกาศสามารถสร้างที่พักพิงที่ทำจากดินบนดวงจันทร์ เพื่อปกป้องตัวเองหากต้องอยู่นานเกินกว่าสองถึงสามวัน และว่าผนังของที่พักพิงจะต้องมีความหนาอย่างน้อย 80 เซนติเมตร หากหนากว่านั้นอาจทำให้ดินปล่อยรังสีขั้นที่สองออกมา และรังสีดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเมื่อรังสีคอสมิกทำปฏิกิริยากับดินบนดวงจันทร์
NASA กล่าวว่าจะมีเครื่องตรวจจับรังสีและที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับนักบินอวกาศทั้งหมดที่บินไปยังดวงจันทร์
Thomas Berger นักฟิสิกส์ของสถาบัน German Space Agency’s Medicine Institute ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมทำการศึกษาในครั้งนี้กล่าวว่าในที่สุดวิธีการนี้ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์มี "ชุดข้อมูล" ที่สามารถใช้ในการวัดระดับรังสีและศึกษาผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ