Your browser doesn’t support HTML5
การเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 46 ปีที่ถูกตำรวจผิวขาวนครมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา ใช้เข่า ‘กดคอ’ กับพื้นจนเสียชีวิต และกลายเป็นเหตุของการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมที่ลุกลามบานปลายไปทั่วสหรัฐฯ ในขณะนี้ มีเหตุผลและที่มาสะท้อนถึงปัญหาใหญ่การเหยียดสีผิวในสังคมอเมริกันที่มีมานานแต่กลับถูกมองข้ามครั้งแล้วครั้งเล่า
"เหยียดผิว" ปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครอยากมองเห็น?
"การเสียชีวิตของคุณจอร์จ ฟลอยด์ มันบอกถึงเรื่องที่สำคัญมาก แต่ผู้คนมักไม่พูดถึง มันเหมือนกับเป็น “Big elephant in the room” (สำนวนภาษาอังกฤษ : เห็นปัญหาใหญ่แต่กลับมองข้าม) ทุกคนรับรู้ว่า การเหยียดสีผิวเชื้อชาติ (Racism) ในสังคมอเมริกันนั้นมีอยู่จริง แต่กลับไม่มีใครทำอะไรเลย”
มงคล เตง (Mongkol Teng) ชาวเมืองมินนีแอโปลิส (Minneapolis) รัฐมินนิโซตา เชื้อสายกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในนครใหญ่แห่งนี้มานับสิบปี สะท้อนประสบการณ์ตรงที่เขามองเห็นและสัมผัสได้ถึงปัญหาความอยุติธรรมจากการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวที่ถูกละเลยมายาวนาน และกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การประท้วงใหญ่ลุกลามบานปลาย หลังการเสียชีวิตของ นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่า ‘กดคอ’ กับพื้นขณะใส่กุญแจมือ ต่อหน้าผู้คนจำนวนมากในย่านเลค สตรีท (Lake Street) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทุกคนรับรู้ว่า การเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ในสังคมอเมริกันนั้นมีอยู่จริง แต่กลับไม่มีใครทำอะไรเลยมงคล เตง ชาวเมืองมินนีแอโปลิส
มงคล บอกว่า ปัญหาการถูกกระทำอย่างรุนแรงของชาวอเมริกันผิวดำจากเจ้าหน้าที่ในตำรวจมินนิแอโปลิส มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีหลายกรณีที่มีการลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมแต่ก็ไม่ค่อยได้รับการใส่ใจ
จอร์จ ฟลอยด์ ไม่ใช่เหยื่อรายแรก
“ชาวเมืองที่มินนีแอโปลิส กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจของเมือง มีเหตุเกิดขึ้นหลายกรณีมาก ทุกครั้งที่เราได้ยินว่ามีการยิง มีอาชญากรรม แถวย่านเลคสตรีท หรือ ย่านมินนีแอโปลิสตอนเหนือ ซึ่งเป็นชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา เราจะได้ยินว่าตำรวจไล่ยิงคนนี้ คนโน้น บางครั้งถ้าไม่มีใครที่ถ่ายคลิปได้ เราก็จะไม่รู้ ก็โชคดีที่เกี่ยวกับคดีของจอร์จ ฟลอยด์ ด้วยว่าหากไปดูรายงานของตำรวจก็อาจจะไม่มีข้อมูลพวกนี้ แต่โชคดี ที่มีคนมาเห็นและถ่ายรูปไว้ได้
..การประท้วงที่นี่ก็มีหลายครั้งแล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ จามัล คลาร์ค (Jamal Clarke)ชายขาวผิวดำที่ถูกตำรวจยิงที่ศรีษะเสียชีวิตทั้งๆที่ถูกใส่กุญแจมือ หรือคดีของฟิลแลนโด แคสติล (Philando Castile) ชายชาวผิวดำที่ถูกตำรวจยิงหลายนัดในรถที่เขาขับ ขณะกำลังยื่นใบขับขี่ให้ตำรวจ ที่เมืองฟัลคอล ไฮส์ (Falcon Heights) ไม่ไกลจากเมืองเซนต์ พอล (St. Paul) เมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งของมินนิโซต้า ก็มีการประท้วงมาก่อนเหมือนกัน แต่ไม่มีใครคิดว่าจะใหญ่เหมือนตอนนี้”
ความ 'อยุติธรรม' ชัดเจนยิ่งกว่าครั้งใด
ระยะเวลาที่สั่งสมความกดดัน บวกกับพยานหลักฐานที่ชัดเจนถึงการทำเกินกว่าเหตุภาพวีดิโอ ที่เผยแพร่ออกไป ทำให้การตายของจอร์จ ฟลอยด์ คือความแตกต่างและเป็นทั้งจุดเปลี่ยนที่จุดระเบิดความกดดันความรู้สึกในใจของผู้คนที่ออกมาประท้วง
“ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้คือ จุดพลิก คือแบบคนเห็นว่าความอยุติธรรม มันเห็นชัดเจนมาก และความโกรธที่คนเก็บในใจมานาน หลายรุ่น หลายร้อยปีนั้น มันถึงเวลา แล้วเขาก็เห็นว่าคนที่ประท้วงที่มินนีแอโปลิส เนี่ยทำได้ และอะไรที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ นั้น มันสั่นสะเทือนไปถึงข้างในใจของพวกเขาด้วย (กลุ่มผู้ชุมนุม) ก็เลยนำความในใจของพวกเขาออกมาแสดงออก...
หลักฐานวีดิโอ ประจานตำรวจผิดชัดเจน
"ผมว่ากรณีของจอร์จ ฟลอยด์นั้น ถ้าจะมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ก็น่าจะเป็นที่ผู้คนส่วนใหญ่ ดูเหมือนจะเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า วิธีการปฏิบัติของตำรวจที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นความผิดอย่างชัดเจน เพราะว่าเมื่อก่อนก็มักจะมีข้ออ้างว่า เพราะว่าคนนี้มาขโมยของ คนนี้เขาทำร้ายคนนี้ก่อนก็สมแล้วที่จะถูกยิง แต่สำหรับครั้งนี้ผมคิดว่า ยังไงกรณีทำให้คนเห็นใจของคนดำมากขึ้น”
มงคล เตง เป็นหนึ่งในชาวรัฐมินนิโซตา ที่พยายามออกไปช่วยเหลือคนในชุมชนเก็บกวาดทำความสะอาดจากความเสียหายในช่วงวันแรกๆ หลังเหตุความรุนแรงจากการประท้วงที่บานปลาย
ชุมชนช่วยยืนหยัดความสงบ
ขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ว่าเหตุการณ์วุ่นวายในช่วงชุลมุนมักเกิดจาก กลุ่มผู้ฉวยโอกาสที่มาจากจากนอกพื้นที่ และทำให้ในช่วงหลังชาวชุมชนต้องร่วมสร้างกลไกเป็นเครือข่ายขึ้นมาปกป้องตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำและมีส่วนทำให้สถานการณ์ที่มินนิแอโปลิสดีขึ้นในช่วงหลัง
“ในช่วง 2-3 วันแรก ที่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกว่า คนที่มาชุมนุมเป็นคนที่แบบมาทำลายทุกอย่าง แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นตอนที่เริ่มมีคลิป ออกมาก็จะเห็นว่ามันมีพวกคนอื่นแฝงตัวแทรกซึมเข้ามาด้วย แล้วก็น่าจะเป็นคืนที่ 2-3 นี่ล่ะ ที่เพื่อนบ้านละแวกนั้นก็ระดมกันวางแผนว่าจะวางเครือข่ายสื่อสารกลุ่มกันเพื่อจับตาดูในชุมชน ถ้ามีใครแปลกหน้ามาแถวบ้าน เราจะทำยังไง แบบไหน หรือการเก็บเอาถังขยะที่ปกติจะอยู่ที่หน้าบ้านไปไว้ที่อื่น เพราะอาจถูกใช้ไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อจุดไฟเผาได้ คือแบบเตรียมตัวว่าถ้ามีการเผาก็จะช่วยกันดับ”
มงคล เตง ชาวเชื้อสายกัมพูชาย้ายมาเรียนและสำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา และปัจจุบันก็ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ใน มหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) ที่นครมินนีแอโปลิส