ไอเดียใหม่! เปิดเผยตัวตนและไลฟ์สไตล์ผ่านโมเลกุลสะสมบนโทรศัพท์มือถือ

Your browser doesn’t support HTML5

Cellphones Molecule

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้อมูลที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของคนๆหนึ่ง สามารถเปิดเผยถึงบุคลิก ลักษณะนิสัย สิ่งที่ชอบ หรือการใช้ชีวิตของคนๆนั้นได้

แต่นักวิจัยที่ University of California วิทยาเขต San Diego พบว่าโมเลกุลขนาดจิ๋วที่เกาะอยู่ตามโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถบอกถึงไลฟ์สไตล์ของเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนั้นได้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ University of California วิทยาเขต San Diego บอกว่าพวกเขาสามารถทราบถึงไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตของคนๆ หนึ่งได้ จากโทรศัพท์มือถือที่คนๆนั้นใช้ โดยที่ไม่ต้องเปิดรหัสดูข้อมูลข้างในเลยเสียด้วยซ้ำ และก็ไม่ได้ใช้หลักการด้านโหราศาสตร์หรือดาราศาสตร์ใดๆ

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร the Proceedings of the National Academy of Science คณะนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ได้ทดสอบด้วยการนำโทรศัพท์มือถือของกลุ่มตัวอย่าง 39 คน เพื่อตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่า “Molecular Lifestyle Signatures” หรือ “การบ่งบอกถึงการใช้ชีวิตผ่านทางโมเลกุล” ซึ่งเป็นโมเลกุลหรือฝุ่นผงที่ติดมาจากกิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกวัน แล้วสะสมติดอยู่บนโทรศัพท์มือถือผ่านทางมือและใบหน้าของเรา

นักวิทยาศาสตร์ชุดนี้บอกว่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ยาฆ่าแมลง รวมทั้งสารเคมีต่างๆ สามารถทิ้งร่องรอยอยู่บนตัวเราโดยเฉพาะบนนิ้วมือ ก่อนที่จะถูกส่งผ่านไปยังโทรศัพท์มือถือ

นักวิจัยนำโมเลกุลเหล่านั้นมาตรวจสอบด้วยวิธีที่เรียกว่า Mass Spectrometry หรือการวิเคราะห์มวลของอะตอมและโมเลกุลด้วยพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลทางเคมี โดยสิ่งที่พบคือข้อมูลเฉพาะบางอย่างเกี่ยวกับเจ้าของโทรศัพท์

ตัวอย่างของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบบนโทรศัพท์มือถือของกลุ่มตัวอย่าง ก็เช่น สารเคมีจากยารักษาเชื้อราตามผิวหนัง ยาป้องกันผมร่วง ยาหยอดตา ยาแก้โรคซึมเศร้า ครีมกันแดด ผงกาแฟ และละอองจากเปลือกผลไม้ เป็นต้น

นักวิจัยบอกว่า สารเคมีจากครีมกันแดดและยากันแมลงอาจช่วยบ่งชี้ได้ว่าเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนั้นเป็นคนชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง ส่วนละอองหรือผงพริก ผลเครื่องเทศ อาจช่วยระบุได้ว่าเป็นคนชอบทานอาหารรสจัด ขณะที่คราบไวน์หรือเบียร์อาจช่วยบอกว่าคนๆนั้นชอบดื่มของมึนเมา หรือชอบงานปาร์ตี้รื่นเริงก็เป็นได้

นอกจากนี้ โมเลกุลสารเคมีจากเครื่องสำอางยังอาจช่วยบ่งชี้ว่า เจ้าของโทรศัพท์นั้นน่าจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ใช่การระบุถึงรูปพรรณสัณฐานของใครคนใดคนหนึ่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากโมเลกุลที่เก็บได้นั้นยังไม่มีความเฉพาะเจาะจงหรือเป็นเอกลักษณ์จนสามารถนำมาใช้แทนลายนิ้วมือได้

แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า วิธีการนี้จะสามารถนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต กิจวัตรประจำวัน และสิ่งที่ชื่นชอบ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมหลักฐานด้านอาชญาวิทยา โดยมีสถาบันยุติธรรมแห่งชาติของสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้

เพื่อที่ในอนาคต ตำรวจหรือนักสืบอาจใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกาะแน่นอยู่บนโทรศัพท์มือถือในการติดตามจับกุมคนร้าย นอกเหนือไปจากการตรวจสอบลายนิ้วมือ และดีเอ็นเอ

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก Washington Post )