Your browser doesn’t support HTML5
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกนที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ JAMA เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนจากการติดตามกลุ่มตัวอย่างเกือบ 20,000 คนและส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกันผิวขาวอายุเฉลี่ย 62 ปีเป็นเวลา 12 ปีได้พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่น้อยถึงปานกลางนั้นอาจช่วยการทำงานของสมองโดยเฉพาะในเรื่องการใช้ความคิดและเหตุผลตลอดจนถึงเรื่องความจำได้ นักวิจัยให้คำจำกัดความของการดื่มในปริมาณน้อยและปานกลางว่าหมายถึงน้อยกว่าแปดดื่มต่อสัปดาห์สำหรับผู้หญิง และน้อยกว่า 15 ดื่มต่อสัปดาห์สำหรับผู้ชาย
การศึกษานี้ดูเหมือนจะสนับสนุนผลที่เคยพบก่อนหน้านี้ว่าโดยทั่วไปแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ 1 ดริ๊งค์ต่อวันสำหรับเพศหญิงและไม่เกินสองดริ๊งค์ต่อวันสำหรับเพศชายนั้นอาจมีผลดีต่อการทำงานของสมอง สำหรับในอเมริกานั้นหนึ่งดริ๊งค์หมายถึงแอลกอฮอล์ 14 กรัมหรือ 14 มิลลิลิตร
อาจารย์คาริน แอนซี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัยเรื่องความจำในออสเตรเลียซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาชิ้นนี้บอกว่าขณะนี้มีหลักฐานจำนวนมากจากการติดตามสังเกตที่แสดงว่าแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยถึงปานกลางมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองที่ดีขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงของโรคความจำเสื่อมได้เมื่อเทียบกับในกลุ่มที่ไม่ดื่ม อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาขนาดใหญ่ระดับโลกอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปีที่แล้วได้พบว่าไม่มีสุรา เบียร์ หรือไวน์ในปริมาณใดเลยที่ปลอดภัยหรือเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม และแอลกอฮอล์นั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งสำหรับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในเพศชายและหญิงอายุระหว่าง 15 ถึง 49 ปีทั่วโลกด้วย
ย้อนกลับไปที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกนอีกครั้ง ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่จะไม่ได้ประโยชน์ต่อการทำงานของสมองจากแอลกอฮอล์นั้นคือคนผิวดำ ซึ่งอาจารย์คาริน แอนซีของศูนย์ศึกษาเรื่องความจำในออสเตรเลียก็ให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่านอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วกลุ่มเชื้อชาติต่างๆอาจได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกัน
ทางด้านน.พ. ริชาร์ด ไอแซคสันแพทย์ระบบประสาทผู้ก่อตั้งคลินิกป้องกันอัลไซเมอร์ที่ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งในรัฐนิวยอร์กก็เสริมว่า ข้อพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้อยู่ที่ดื่มอะไรและเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ดื่มเมื่อไหร่และอย่างไรมากกว่า ตัวอย่างเช่นการดื่มไวน์หนึ่งแก้วพร้อมอาหารเย็นอาจให้ผลดีกว่าการดื่มไวน์สองแก้วตอนดึกใกล้เวลานอนขณะที่ท้องว่าง เพราะเรื่องนี้อาจกระทบต่อคุณภาพการนอนและส่งผลต่อความเสี่ยงของอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งในเรื่องนี้อาจารย์คาริน แอนซี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเรื่องความจำก็ชี้ว่าถ้าเราไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วก็ไม่ควรไปเริ่มทดลอง เนื่องจากแอลกอฮอล์แม้อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้บ้างก็ตามแต่แอลกอฮอล์ก็เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งบางประเภทได้เช่นกัน