นกอพยพอาจเป็นโอกาสสานสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง 'โสมแดง-โสมขาว'

Birds fly in a line in North Korea in the demilitarized zone (DMZ) near the border village of Panmunjom that separates the two Koreas since the Korean War, in Paju, north of Seoul, South Korea, Wednesday, April 25, 2012. (AP Photo/Lee Jin-man)

Your browser doesn’t support HTML5

Migrating Birds Korea

การติดต่อสื่อสารระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ได้หยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากที่เปียงยางสั่งตัดโทรศัพท์สายด่วนด้านการทหารและรื้อถอนที่ตั้งของหน่วยประสานงานตรงจุดพรมแดนในพื้นที่ของตน

นอกจากนั้น เปียงยางยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากกรุงโซลระหว่างการระบาดใหญ่และไม่นำพาต่อเสียงเรียกร้องจากเกาหลีใต้ให้สืบสวนเรื่องการยิงสังหารเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในความควบคุมของทหารเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกันยายนด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฤดูหนาวกำลังแผ่ปกคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น เวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่นกอพยพกว่า 50 ล้านตัวเริ่มโยกย้ายถิ่นฐานข้ามทวีประยะไกลจากขั้วโลกเหนือผ่านทะเลเหลืองและคาบสมุทรเกาหลีไปยังบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้และมหาสมุทรอินเดียที่อบอุ่นกว่า และนกอพยพต่าง ๆ รวมกว่า 200 พันธุ์นี้มีบางส่วนที่แวะพักกลางทางในบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะและหนองน้ำของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การอพยพประจำฤดูกาลของนกบางพันธุ์อาจจะเปิดช่องทางให้สองประเทศนี้กลับมาหารือกันได้อีกโดยอาศัยประเด็นที่มีความเป็นการเมืองน้อยที่สุด

คุณดั๊ก วัตกิน ซีอีโอของหน่วยงานอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อ East Asian-Australasian Flyway Partnership Secretariat ในเมืองอินชอนของเกาหลีใต้ บอกว่า ถึงแม้จะมีปัญหาท้าทายหลายอย่างในการรักษาและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทั้งสองประเทศมีอยู่ร่วมกัน คือเรื่องนกอพยพ ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ

ส่วนคุณคริสโตเฟอร์ แมคคาธี นักวิจัยของสถาบัน Institute for Far Eastern Studies ในกรุงโซล ก็บอกว่า ถึงแม้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องการเมือง แต่เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นประเด็นซึ่งเป็นการเมืองน้อยที่สุดสำหรับเกาหลีเหนือ

ตอนนี้มีนักการเมืองท้องถิ่นบางคนของเกาหลีใต้ อย่างเช่น คุณฮีโอ ซก นายกเทศมนตรีเมืองซันเชือน ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่นกเหล่านี้แวะพักกลางทางระหว่างการบินข้ามทวีป ได้เสนอว่าโครงการแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้นั้นมักจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม แต่เนื่องจากความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขณะนี้กำลังตึงเครียด เขาคิดว่าน่าจะมีโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

คุณซกกล่าวด้วยว่า ความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีอาจจะเริ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการแบ่งปันความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่และหนองน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่พักชั่วคราวของนกอพยพ และหวังว่าความร่วมมือที่ว่านี้อาจจะขยายเป็นแผนงานระดับภูมิภาคเพื่อติดตามการอพยพของนกกระเรียนได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีจะฟื้นคืนมาอีกครั้งได้ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตาม และกระทรวงรวมประเทศของเกาหลีใต้ก็กล่าวว่ายังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการเรื่องความร่วมมือกับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเพื่อติดตามเก็บข้อมูลของนกอพยพในเส้นทางที่บินเคลื่อนย้ายถิ่นก็ทำได้ยากและสร้างปัญหาที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม

ถึงกระนั้นก็ตาม คุณเบอร์นาท เซลิงเกอร์ ตัวแทนของมูลนิธิอนุรักษ์ธรรมชาติ German Hanns Seidel ในกรุงโซล ก็หวังว่าเมื่อโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เวลาสำหรับการหารือระหว่างสองเกาหลีคงจะสามารถกลับมาได้อีกครั้ง