Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการมาเลย์เซียต้องกักกันชาวบ้าน 64 คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสมาจากตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เชื้อไวรัสที่ว่านี้ เรียกว่า Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดกำลังจับตาดูการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจในตะวันออกกลางนี้อย่างใกล้ชิด นักระบาดวิทยา David Swerdlow หัวหน้าทีมงานเรื่อง MERS ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐบอกว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสนี้สูงมาก
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ติดเชื้อ MERS เสียชีวิตในอัตรา 30 – 40% และว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วในหลายประเทศ เชื้อแพร่ระหว่างคน และยังไม่มียาบำบัดหรือวัคซีนป้องกันได้
มีรายงานว่ามีผู้ป่วยด้วยโรค MERS เป็นครั้งแรกในซาอุดิ อเรเบียเมื่อปี ค.ศ. 2012 และตามตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีผู้ป่วย 261 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 93 ราย
เวลานี้ MERS แพร่ไปทั่วตะวันออกกลาง และไปถึงมาเลย์เซีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้วด้วย
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจในตะวันออกกลาง หรือ MERS นี้เป็นไวรัสในตระกูล coronavirus ซึ่งรวมถึงเชื้อไข้หวัดธรรมดา และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจร้ายแรง หรือ SARS ด้วย แต่ยังไม่แน่ใจกันว่า เชื้อ MERS มาจากไหน ที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันในเวลานี้คือ อูฐ
อาการของ MERS คือเป็นไข้ ไอ และในกรณีที่อาการหนัก อาจเป็นปอดบวมและไตวายได้ แต่ Amesh Adalja ผู้เชี่ยวชาญของ Infectious Diseases Society of America ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ Voice of America ผ่านทาง Skype บอกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ SARS แล้วยังใจชื้นว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ MERS ที่แพร่เชื้อได้อย่างมากเกินสัดส่วนเหมือนเมื่อตอนที่ SARS กำลังระบาดในปี ค.ศ. 2003 เขาบอกว่า เมื่อตอนที่ SARS ระบาดอยู่นั้น เห็นได้ชัดว่ามีการติดเชื้อระหว่างคนมากกว่า และยังได้เห็นคนที่แพร่เชื้อได้มากเกินสัดส่วน ที่เรียกกันว่า super-spreaders ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแพร่เชื้อไปทั่วโลก
มีผู้ป่วยเป็น SARS ราวๆ 8,000 คนใน 29 ประเทศ และเสียชีวิตไปประมาณ 800 คน ก่อนที่จะหาทางจำกัดการแพร่กระจายกันได้
สำหรับ MERS นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังจะต้องศึกษาเชื้อไวรัสและโรคนี้กันอีกมาก อย่างไรก็ตาม มีรายงานเมื่อเร็วๆนี้ที่อ้างถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศจีนและฮ่องกงที่พบว่า มี antibodies สองชนิด คือ MERS – 4 และ MERS – 27 ที่กีดกันปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรทีนของเชื้อไวรัส MERS กับตัวรับของแซลล์ ทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปในแซลล์ไม่ได้
ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Science Translational Medicine กล่าวไว้ด้วยว่า อาจใช้ antibodies นี้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนหรือการบำบัดได้ แต่ยังจะต้องทดลองกับสัตว์และมนุษย์กันต่อไปก่อน
Amesh Adalja จาก IDSA บอกส่งท้ายว่า บทเรียนสำคัญที่ได้จาก SARS ก็คือ โลกเรานั้นไม่กว้างใหญ่และ พรมแดนไม่มีความหมาและว่า ความมั่นคงทางสาธารณสุขของโลกผูกพันกับการระบุภัยคุกคามเหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้ และพยายามสะกัดกั้นไม่ให้ลุกลามออกไป
ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญจึงกำลังจับตามอง MERS กันอย่างใกล้ชิด