Your browser doesn’t support HTML5
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตที่ไปหล่อเลี้ยงสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่มีบทบาทในการควบคุมแรงจูงใจ อารมณ์ และการตอบสนองต่อความเครียด นอกจากนี้ยังช่วยปล่อยสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ให้ความรู้สึกดีกับร่างกายอีกด้วย
นอกจากนี้การศึกษาพบว่าไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายแบบที่มีความเข้มข้นสูงเพื่อลดความเครียด แต่การออกกำลังกายแบบเข้มข้นระดับปานกลาง ซึ่งหมายถึงการออกกำลังกายหนักพอที่จะสามารถพูดไปด้วยได้ แต่ไม่ถึงขนาดร้องเพลงไปด้วยได้นั้นจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้
การศึกษาหลายๆ ฉบับแสดงให้เห็นถึงประโยชน์สูงสุดจากการออกกำลังกายแบบเป็นจังหวะซึ่งจะทำให้เลือดสูบฉีดในกล้ามเนื้อกลุ่มที่สำคัญ การออกกำลังกายที่ว่ารวมไปถึงการวิ่ง ว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน และการเดิน เพียงวันละ 15 ถึง 30 นาทีอย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นในระดับความเข้มข้นต่ำถึงปานกลาง ก็จะช่วยให้จิตใจสงบและมีสุขภาพที่ดีได้
วิธีต่อไปคือการนอนหลับให้สนิท ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยบรรเทาความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องหัวใจ พัฒนาสมอง และทำให้ทานจุกจิกน้อยลง
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีการพัฒนาพฤติกรรมการนอนหลับไว้ดังนี้
• ควรสร้างกิจวัตรประจำวันโดยการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา แม้แต่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ การที่จะสอนร่างกายและสมองให้สงบลงได้นั้น ควรพยายามเริ่มผ่อนคลายอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน ปิดการรับข่าวสารต่างๆ และเลิกใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน การอาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงผ่อนคลาย นั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายแบบเบาๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีด้วยเช่นกัน
• ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด หลีกเลี่ยงการใช้นิโคตินหรือดื่มกาแฟในช่วงบ่ายแก่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการนอนไม่หลับ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตื่นนอนตอนกลางดึกได้
• เตียงนอนและหมอนควรให้ความรู้สึกสบาย อากาศในห้องนอนควรเย็นสบาย ไม่ควรดูโทรทัศน์หรือทำงานในห้องนอน เพราะห้องนอนควรเป็นที่สำหรับการนอนหลับเท่านั้น
• ห้องนอนควรมืดสนิท ควรกำจัดแสงจ้าทั้งหมด รวมทั้งแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์มือถือหรือแล็ปท็อปด้วย อาจใช้ผ้าม่านที่ช่วยให้ห้องมืดสนิท แต่ในเวลากลางวันก็ควรพยายามให้ร่างกายรับแสงจากธรรมชาติให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน
อีกวิธีหนึ่งคือ การหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าส่งผลดีต่อสมองและช่วยลดความเครียดอีกด้วย
Dr. Cynthia Ackrill ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียดและบรรณาธิการของนิตยสาร Contentment magazine โดยสถาบัน American Institute of Stress กล่าวว่าการเรียนรู้วิธีกำหนดลมหายใจช่วยให้ร่างกายและจิตใจสงบลงได้
Jacinta Brinsley นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย South Australia กล่าวว่าการฝึกโยคะ ไทชิ หรือจี้กง ก็ช่วยลดความเครียดได้เช่นเดียวกัน โยคะเป็นรูปแบบหนึ่งของการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยปล่อยสารเอ็นโดรฟินแล้ว ยังสามารถควบคุมระบบการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย และปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้ด้วย
นอกจากนี้การออกกำลังกายแบบดั้งเดิมของชาวจีนที่เรียกว่าไทชิและจี้กง ก็ช่วยลดความเครียดได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ไม่มีความรุนแรง มีความเข้มข้นปานกลาง มีลำดับการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสมาธิ การหายใจ การประสานและการผ่อนคลาย
และวิธีทางธรรมชาติวิธีสุดท้ายในการลดความเครียดก็คือการทำสมาธิ ซึ่งการทำสมาธิและการฝึกสติเป็นสองวิธีที่ยอดเยี่ยมในการลดความเครียด อาจใช้เวลาเพียงหนึ่งนาทีในตอนเช้าและตอนเย็นของทุกวันในการทำสมาธิเพื่อช่วยให้จิตใจแจ่มใส มองโลกในแง่ดี และเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย การฝึกสติหรือทำสมาธิก็จำเป็นต้องมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอด้วยและผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่าแก่ความพยายามอย่างแน่นอน