Your browser doesn’t support HTML5
สัตว์หายากหลายชนิดเช่น กระรอกบินยักษ์ และแมงมุงไร้ตาที่อาศัยในถ้ำ เคยถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในเขตลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อ 20 ปีก่อนนักวิทยาศาสตร์พบสัตว์ชนิดใหม่มากกว่า 2,200 ชนิดในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 360 พันธุ์เท่านั้นในช่วงปี ค.ศ. 2012 ถึง 2013
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเขตความหลากหลายทางชีวภาพแหล่งใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก กำลังอยู่ภายใต้การคุกคามจากโครงการพัฒนา เช่นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ท่ามกลางความหย่อนยานของงานรักษากฎหมาย
Thomas Gray ผู้จัดการฝ่ายพันธุ์สัตว์ป่าของกองทุน World Wide Fund for Nature ที่ประเทศกัมพูชากล่าวว่าผลของความพยายามที่จะหยุดยั้งความสูญเสียทางธรรมชาติยังไม่เห็นชัดเจน
เขาบอกว่าการช่วยเหลือเสือในประเทศไทยประสบความสำเร็จแต่ในส่วนอื่นๆ ของเขตลุ่มแม่น้ำโขงยังมีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ และเสริมด้วยว่าต้องพยายามมากขึ้นที่จะรณรงค์ให้ผู้นำทางการเมืองร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์อย่างจริงจัง
ขณะนี้ไทยเป็นประเทศเดียวในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างที่ยังมีเสือในธรรมชาติเนื่องจากการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เสือ ขณะที่ไม่พบเสือและแรดอีกต่อไปในป่าของลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาขนาดของป่าลดลงถึงหนึ่งในสาม และนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีป่าเหลือเพียงร้อยละ 10 ถึง 20 เท่านั้นในอีก 5 ปีจากนี้ หากว่าการซื้อขายสัตว์และพืชป่าผิดกฎหมายยังคงดำเนินต่อไปในระดับปัจจุบัน ร้อยละ 40 ของสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้จะหายไปจากภูมิภาคนี้
ทั้งนี้หน่วยงาน Freeland Foundation ของสหรัฐประเมินว่า ตลาดมืดของสินค้าจากป่าและทะเลผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสูงถึง 120 ล้านดอลลาร์ต่อปี
รายงานโดย Ron Corben เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท