หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าป่าในประเทศไทยลดลง 42% นำหน้าประเทศอื่นหลายประเทศเขตลุ่มแม่น้ำโขง

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม Worldwide Fund for Nature ระบุว่าป่าในประเทศไทยและเวียดนามลงลด 42% ในช่วงปี พ.ศ. 2516 ถึง 2552 นำหน้าประเทศอื่นหลายประเทศเขตลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีพื้นที่ป่าลดลงหนึ่งในสามในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน Geoffrey Blate หนึ่งในคณะผู้จัดทำรายงาน กล่าวว่าอัตราการทำลายป่าในพม่าสูงที่สุดประเทศหนึ่งในย่านนี้ เพราะยังมีบริเวณที่เป็นป่ากว้างขวาง เช่นเดียวกันกับลาวและกัมพูชา

Worldwide Fund for Nature ระบุว่าแม้ตัวเลขจากสหประชาชาติจะเคยชี้ว่าอัตราการทำลายป่าลดลง แต่พื้นที่ที่ถูกระบุว่าเป็นป่าหลายแห่งแท้จริงแล้วเป็นป่าเกษตรที่ปลูกพืชเชิงพาณิชย์เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

ในรายงานฉบับนี้คณะวิจัยพบว่า ป่าประเภทป่าแกนกลาง หรือ core forests ซึ่งหมายถึงบริเวณที่เป็นป่าล้วนๆขนาดสามตารางกิโลเมตร ลดลงจาก 70% ของพื้นที่ป่าเขตลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ลงมาเหลือเพียง 20% เท่านั้น

คณะวิจัยระบุว่าประเทศต่างๆประสบความล้มเหลวในการตระหนักถึงคุณค่าทางธรรมชาติของป่า และความสำคัญของป่าต่อระบบนิเวศน์ เพราะมักหาทางที่จะแสวงผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินจากพื้นที่ป่าบ่อยครั้ง

โปรดติดตามรายละเอียดจากคลิปเรื่องนี้ในรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ

รายงานโดย Daniel Schearf /เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท