ลาวกำลังเผชิญแรงกดดันทั้งในและนอกภูมิภาคให้ชะลอการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง

Cambodia Laos Dam

กลุ่ม Friends of the Lower Mekong จัดประชุมครั้งแรกเพื่อหารือผลกระทบของการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ที่เมืองปากเซต้นเดือน ก.พ

Your browser doesn’t support HTML5

Mekong Dam

ผู้แทนสมาชิกกลุ่ม Friends of the Lower Mekong ได้แก่ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ร่วมกับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ ลาว เวียดนามกัมพูชา และไทย ร่วมประชุมที่เมืองปากเซเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหารือเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อน ที่มีต่อแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร

ครั้งนี้นับเป็นการประชุมครั้งแรกตั้งแต่กลุ่ม Friends of the Lower Mekong ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ 2009 และถือเป็นก้าวสำคัญในการใช้วิธีทางการฑูตเพื่อกดดันลาวให้ชะลอหรือยกเลิกโครงการเขื่อนดอนสะโฮง

Mao of Don Sahong Dam construction sites

โครงการดังกล่าวมีมูลค่าราว 600 ล้านดอลล่าร์ กั้นแม่น้ำโขงตอนล่างในแถบภาคใต้ของลาวในบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง ห่างจากชายแดนกัมพูชาไม่ถึง 2 กม. เป้าหมายของการสร้างเขื่อนแห่งนี้คือผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนหลายประเทศในแถบนี้ ถือเป็นโครงการสร้างเขื่อนแห่งที่สองในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ต่อจากเขื่อนไซยะบุรีในแถบทางเหนือของลาว ที่มีมูลค่าราว 3,800 ล้านดอลล่าร์

โครงการเขื่อนทั้งสองแห่งนี้สร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง และวิถีชีวิตของผู้คนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาสายน้ำหลักที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

เมื่อ 6 เดือนก่อน รัฐบาลลาวตกลงให้ชะลอการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไปอีก 6 เดือน เพื่อศึกษาผลกระทบดังกล่าว จนมาถึงช่วงปลายเดือนที่แล้วที่รัฐบาลลาวระบุว่ากำลังเตรียมการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ แม้จะมีเสียงต่อต้านให้ชะลอโครงการออกไป

Don Sahong Dam model

อาจารย์ Carl Thayer นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรลีย ชี้ว่าการประชุมของกลุ่ม Friends of the Lower Mekong สัปดาห์ที่แล้ว คือการส่งสัญญาณให้ลาวทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง


อาจารย์ Carl Thayer เชื่อว่าการที่กลุ่ม Friends of the Lower Mekong ยื่นมือเข้ามากดดันลาวทางการฑูตครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเขื่อนดอนสะโฮงเป็นโครงการขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเขื่อนไซยะบุรี แต่อาจมีผลกระทบตามมามากมาย ดังนั้นการโน้มน้าวให้ลาวยกเลิกการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงอาจเป็นเรื่องง่ายกว่า เพื่อแลกกับผลตอบแทนด้านอื่นๆ นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ระบุด้วยว่า กัมพูชาและเวียดนามกำลังพยายามล็อบบี้ให้มีการทบทวนการสร้างเขื่อนแห่งนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อกระแสน้ำและการประมง

ด้าน ผอ.สถาบันประชาธิปไตยกัมพูชา Sorya Sim ชี้ว่าจำเป็นต้องมีองค์กรสากลเข้ามาช่วยในกระบวนการตัดสินใจว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบนี้อย่างไร และว่าการสร้างเขื่อนนั้นเป็นเรื่องระหว่างประเทศ มีหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ เช่นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงควรอาศัยความเห็นของหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย

don-sahong-dam-map

งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะขวางกั้นทางเดินน้ำหลัก จะทำให้ปลาไม่สามารถอพยพตามฤดูกาล และเป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีที่ใกล้สูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่บริษัทเจ้าของโครงการ Mega First Corp ในมาเลเซีย เป็นผู้ว่าจ้างให้จัดทำ ได้บอกปัดความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่ว่า การสร้างเขื่อนแห่งนี้อาจเพิ่มระดับความเค็มของดินบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ด้านคุณเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการณรงค์กับองค์กรสิ่งแวดล้อม International Rivers กล่าวว่าที่ผ่านมาระบบการปรึกษาตรวจสอบของคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงหรือ MRC ประสบความล้มเหลว ทำให้ประเทศอื่นไม่มีอำนาจในการยับยั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนของลาว คุณเพียรพรชี้ว่าแม้รัฐบาลอีก 3 ประเทศจะไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ลาวยังคงยืนกรานว่าลาวมีสิทธิ์ที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮงได้ และที่สำคัญดูเหมือนผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านนั้นจะถูกมองข้ามไป ดังนั้นคนที่ต้องรับเคราะห์ก็คือชาวบ้านหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้

ด้านกลุ่ม Friends of the Lower Mekong ระบุว่ากำลังมีการเสนอโครงการผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ให้รัฐบาลลาวพิจารณา เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว รวมทั้งการให้ทุนเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของเขื่อนพลังน้ำที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังด้วย

รายงานจากผู้สื่อข่าว Ron Corben / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล