เดินดูร้านรับซื้อของเก่าของคนไทยในอเมริกา ถอดบทเรียนเส้นทางหนึ่งทศวรรษกว่า ของการก้าวข้ามความท้าทายจากกฎหมายและเจ้าถิ่น จนปัจจุบันพร้อมเป็นผู้ให้โอกาสแก่ผู้ที่สนใจเดินบนเส้นทางเดียวกัน
พื้นที่บริเวณข้างทางรถไฟ ชานนครบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ คือจุดเริ่มต้นความฝันของสัมฤทธิ์ เดชเดชานุกูล นักธุรกิจชาวไทยที่อาศัยในสหรัฐฯ เจ้าของธุรกิจรับซื้อของเก่า WPN Recycle
ทั้งหมดนี้เริ่มจากการเห็นโอกาสในสิ่งที่คนอื่นทิ้งขว้าง จนกลายมาเป็น 11 โกดังบนที่ดินขนาดราว 9 เอเคอร์ (ราว 23 ไร่) ที่ปัจจุบัน เขาเปลี่ยนสภาพจากผู้เช่า เป็นเจ้าของที่ดิน
วีโอเอไทยเดินทางไปชมอาณาจักรธุรกิจที่บัลติมอร์ และพูดคุยกับสัมฤทธิ์ ถึงประสบการณ์ 12 ปีบนเส้นทางธุรกิจนี้
จาก 1 ห้องเช่า สู่ 9 เอเคอร์
“ห้องที่มีรถแรนช์โรเวอร์ เห็นไหม นั่นแหละคือห้องเดียวที่ผมเริ่มทำธุรกิจ เล็ก ๆ เลย ตอนนั้นคิดว่าเพดานสูงใหญ่ ผมก็คิดว่าพอแล้ว แต่เชื่อไหม พอเปิดธุรกิจได้ไม่นาน ไม่มีที่จะเดินเพราะของเยอะมาก เราก็เลยเริ่มขยาย พอขยายได้ระยะหนึ่ง สุดท้ายเราก็ได้ซื้อที่ดินผืนนี้เป็นของเราเอง”
สัมฤทธิ์ หรือที่คนในสหรัฐฯ รู้จักในชื่อ “คริส” เล่าพลางชี้ไปที่โกดังหนึ่งจาก 11 หลัง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ WPN Recycle
สัมฤทธิ์เล่าว่า ความสนใจในธุรกิจนี้ในอดีต นำพาเขาให้เดินทางไปอบรมกับ ‘วงษ์พาณิชย์’ บริษัทรับซื้อของเก่ารายใหญ่ของไทย ก่อนจะมาเปิดร้านเป็นของตัวเองเพื่อรับซื้อสินค้าประเภทโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ไปจนถึงอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ
สิ่งของที่ถูกนำมาขายจะถูกจัดประเภทเพื่อขายต่อ หรือแยกชิ้นส่วนเพื่อนำวัตถุดิบอื่น ๆ ไปแยกขาย เช่น นำทองแดงออกจากสายไฟฟ้า หรือแยกชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยอุปกรณ์อัตโนมัติ (Auto Dismantling Machine) ที่สามารถรื้อรถยนต์ทั้งคันได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
สิ่งของบางประเภทถูกนำไปหลอมหรือยกเครื่องเพื่อนำไปใช้ใหม่ เช่น เหล็ก ทองแดง หรือตัวเครื่องของรถยนต์ ในขณะที่วัสดุบางอย่างจะถูกนำไปผสมกับสารประกอบอื่นเพื่อสร้างเป็นสิ่งใหม่ เช่น เศษยางรถยนต์ ที่ถูกนำไปใช้ทำพื้นสนามเด็กเล่นหรือลู่วิ่งกรีฑา
“เขาบอกว่าไม่มีขยะในโลกนี้ เป็นแค่วัสดุที่อยู่ผิดที่เท่านั้นเอง ถ้าเรามาจัดให้มันอยู่ถูกที่ มันก็เป็นเงินเป็นทอง” สัมฤทธิ์กล่าว
กว่าจะมาถึงจุดนี้ WPN Recycle ถูกเคี่ยวกรำจากความท้าทายรอบด้าน แต่ครั้งที่มีผลกับการอยู่หรือไปของธุรกิจคือการถูกคู่แข่งพยายามกีดกันออกไปจากตลาด เป็นการต่อสู้ที่สัมฤทธิ์ต้องเจอแบบเปิดหน้าชนกันด้วยกฎหมายและการล็อบบี้
“ตอนนั้นเราทำเล็ก ๆ ก็ไม่มีใครสนใจมาก พอเราเริ่มขยายมาทำโรงงาน รับซื้อเต็มรูปแบบ คู่แข่งที่เป็นเจ้าใหญ่ ๆ ที่อเมริกา เขาก็รวมตัวกันเพื่อมากล่าวหาเราว่าเรารับซื้อของโจร พูดง่าย ๆ มาป้ายสีว่าเราทำธุรกิจไม่ถูกต้อง เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าที่คุณพูดมามันไม่ถูกต้อง”
สัมฤทธิ์เล่าย้อนไปในวันที่เขาและทนายความตกเป็นผู้ถูกร้องเรียน และต้องพิสูจน์ตัวเองต่อหน้าล็อบบี้ยิสต์และนักการเมืองท้องถิ่นนับร้อยคน
“วันนั้นผมก็ใจร้อน บอกทนายว่าลุยเลย ให้มันรู้ไปเลยว่าได้หรือไม่ได้ ทนายบอกว่าไม่ได้ วันนี้เรามา เรารู้แล้วว่าศัตรูเรามีใครบ้าง แล้วเราก็กลับไปคิดเป็นการบ้านอีกทีว่าเราจะเอาแผนอะไรมาสู้กับเขา”
“ทนายเขาก็ให้เราไปทำประชาพิจารณ์ เอาไปสอบถามคนในพื้นที่ ผมก็ทำไป 500 ฉบับ ถามว่าเขาเห็นด้วยไหม กับผมที่มาเปิดธุรกิจนี้ มีอะไรคัดค้านไหม ให้เขาเซ็นข้อตกลง แล้วเอาเอกสารพวกนี้ไปยื่นกับบอร์ด ว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด และชุมชนก็ไม่ได้ต่อต้านเรา เขาเห็นแล้วก็ดูว่ามีเหตุผล ธุรกิจคุณทำถูกต้อง ก็น่าจะมีโอกาสทำธุรกิจ ก็ชนะ และได้ใบอนุญาตมาเปิดเรียบร้อย”
การบ้านข้อใหญ่: ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกใจลูกค้า
บนเส้นทางรับซื้อของเก่า WPN Recycle ไม่เพียงแต่จะเติบโตด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่เข้ามาขายของ แต่ยังต้องลงทุนในการเป็นธุรกิจที่ปฏิบัติตามข้อบังคับของภาครัฐด้วย
จากการให้ข้อมูลของสัมฤทธิ์ ระบุว่า การทำธุรกิจรับซื้อของเก่าในสหรัฐฯ มีข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามหลายเรื่อง เช่น มีใบประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ประกอบกิจการในผังเมืองที่ถูกประเภท ไปจนถึงการควบคุมไม่ให้การทำธุรกิจ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
“มีหลายส่วนที่ต้องแก้ไขไปเป็นระยะ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ทำให้เราเกือบถูกปิดเหมือนกัน เขามาดูแล้วว่าเราทำแบบ outdoor (นอกตัวอาคาร) ก็ต้องมีระบบตามที่เขาต้องการ เราก็ค่อย ๆ ศึกษา และจ้างคนมาทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดการ การอบรม
“เวลาฝนตก เราก็ต้องส่งน้ำไปทดสอบที่แล็บว่าในน้ำที่เสียออกมา มีสิ่งเจือปนะไรบ้าง มันเกิดพิกัดที่เขาระบุไว้ไหม ถ้าเกินคุณต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เขาต้องการเห็นว่าเราใส่ใจกับเรื่องมลพิษ”
“ผมเคยเกือบโดนปรับ 1 แสนเหรียญ เงินสดเลยนะ แต่เนื่องจากเราก็โชคดีที่ไปนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องรีไซเคิล ผมก็เลยได้ระบบดูดน้ำมันมา ผมก็ไปเสนอเขาว่า คุณจะมาปรับผมทำไมแสนเหรียญ ในเมื่อผมสามารถเอาเงินนี้ไปลงทุนเพื่อควบคุม เขาก็บอกว่ามันก็เข้าข่ายระเบียบที่บอกว่า ถ้าหาที่มาแก้ปัญหาได้ เราก็จะลดส่วนที่ถูกปรับได้ จากแสนเหรียญก็ต่อรองลงมาเหลือไม่กี่หมื่นเหรียญ” เจ้าของ WPN Recycle กล่าว
ไม่ว่าจะสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ดีในสายตารัฐขนาดไหน แต่ตัวชี้วัดการอยู่รอดของธุรกิจที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ สามารถสร้างที่ทางของตัวเองในตลาดได้เพียงใด เมื่อถามว่าอะไรทำให้ลูกค้านำของมาขายให้ WPN Recycle คำตอบที่ได้รับจากสัมฤทธิ์คือ
“เราเน้นเรื่องการบริการ ผมเคยเป็นผู้จัดการ Bank of America มาก่อน เราก็ใช้เทคนิคดูแลลูกค้า ทักทายลูกค้า เราสร้างความสัมพันธ์ อันนี้สำคัญมาก ลูกค้าไม่ใช่มาแล้วจบกัน เราคุยกันเหมือนเป็นเพื่อนกัน ให้เขาเกิดความประทับใจว่ามาที่เรา ราคาดี ไม่มีโกง บริการดี เร็ว สะดวก เวลาคุณเชื่อใจใคร คุณก็อยากไปหาเขา ถูกไหม”
พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้
การเดินทางของ WPN Recycle ยังไม่หยุดแค่นี้ สัมฤทธิ์ยังเตรียมขยายแผนธุรกิจไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และโอกาสแก่ผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจนี้
“แรงงานดี ๆ ในไทย หลายคนผมมองแล้ว รายได้ไม่คุ้มกับความสามารถของเขา เราก็พยายามดูว่าจะไปเชื่อมร้อยกับใครที่อยากจะมาทำงานที่สหรัฐฯ เราก็พร้อมเปิดโอกาสให้ และพยายามที่จะจัดสวสัสดิการ รายได้ให้คุ้มค่ากับความสามารถของเขา มันต้องแฟร์ ๆ ซึ่งกันและกัน”
“ตอนนี้ที่ขาดยังขาดบุคลากร คนที่สนใจทำธุรกิจจริงๆ ถ้าไม่มีทีมงาน โอกาสในการขยายธุรกิจมันก็ยาก ผมก็เลยมีความคิดว่าอยากจะฝึกอบรม ให้ความรู้โดยตรงกับคนที่สนใจที่จะมาประกอบธุรรกิจนี้ ทั้งด้านเอกสาร ใบอนุญาต ทุกอย่างที่เรามีความรู้ เราก็จะจัดคอร์สอบรม เมื่อจบไปแล้วทำธุรกิจได้เลย นอกจากนั้นเรายังพร้อมที่จะไปติดตาม เป็นพี่เลี้ยงระยะต้น และต่อคอนเนคชั่นได้”
เมื่อถามถึงความตั้งใจในการแบ่งปันประสบการณ์ สัมฤทธิ์กล่าวระหว่างที่เขาพาทีมข่าวเดินชมบริษัทว่า
“ผมเชื่อว่าเทียนเล่มหนึ่งที่ผมถือ ถ้าผมต่อให้ใครไป เทียนของผมก็ยังสว่างเหมือนเดิม”