ศาสตาจารย์ ปีเตอร์ โปรโนวอส (Peter Pronovost)จากคณะแพทยศาสตร์ ของ John Hopkins University คือผู้ริเริ่มที่จะให้โรงพยาบาลนำรายการตรวจสอบ (Checklist)เพื่อลดการติดเชื้อให้บุคลากรไปปฏิบัติ แต่ข้อแนะนำและวิธีการที่มีมากถึง 90 หัวข้อ ซึ่งกำหนดโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของทางการสหรัฐนั้นทำให้อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ครบ
ศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ ของJohn Hopkins University บอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้มีการปฏิบัติตามวิธีการลดการติดเชื้อทั้งหมดแต่คุณหมอสามารถเลือก 5 หัวข้อสำคัญที่สุดและนำมาใช้อย่างเคร่งครัดก็สามารถเป็นทางออกเพื่อการลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ และหนึ่งในวิธีการที่บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถทำได้ไม่ยากแต่สำคัญมากก็คือการล้างมือ และการฆ่าเชื้อโรคที่ผิวหนัง ก่อนที่จะใช้อุปกรณ์ในโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วย
โครงการนี้มุ่งศึกษาที่วิธีการลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบได้บ่อยในห้องผู้ป่วย หนัก หรือห้องไอซียู ของโรงพยาบาล โดยเฉพาะการติดเชื้อผ่านทางเข็มฉีดยา หรือ สายท่อยา หรือท่ออาหารที่สอดใส่เข้าไปในร่างกายและเส้นเลือดของผู้ป่วย ที่ต้องให้มีปลอดเชื้อมากที่สุดเพราะหากลดอัตราการนำพาเชื้อโรคได้มากเท่าไหร่ ก็สามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้มากเท่านั้น โดยมีผลการวิจัยเปรียบเทียบอัตราการตายที่ลดลงกว่า ร้อยละ 10 จากโรงพยาบาลในโครงการที่รัฐมิชิแกนเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลที่ไม่ได้ร่วมโครงการ
ศาสตาจารย์ ปีเตอร์ โปรโนวอส บอกว่าวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันของบุคลากรในโรงพยาบาล ในโครงการนี้เริ่มเปลี่ยนไปเช่น การทำงานระหว่างคุณหมอ กับ พยาบาล
ศาสตราจารย์จากJohn Hopkins University บอกว่า ส่วนใหญ่ของโครงการนี้คือการทำให้พยาบาลมีส่วนร่วมและคอยสังเกตคุณหมอมากขึ้น เพราะพบว่า ร้อยละ 25 ของแพทย์มักจะลืมปฏิบัติตามวิธีการเพื่อลดการติดเชื้อ แต่เมื่อพยาบาลทราบก็สามารถเตือนคุณหมอให้กลับไปแก้ไขได้ และทำให้คุณภาพการทำงานในโรงพยาบาลหรือคลินิคดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยโครงการนี้ทำเริ่มนำไปใช้แล้วในหลายประเทศ และพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ติดตามอ่านรายละเอียดผลการศึกษานี้ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ British Medical Journal