ผู้เชี่ยวชาญพบว่าสารเคมีในเนื้อแดงเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดอุดตัน

  • Jessica Berman
นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเปิดเผยว่าได้ค้นพบสารเคมีในเนื้อแดงที่น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งนอกจากไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลที่ไปอุดตันเส้นเลือดและก่อให้เกิดโรคหัวใจ

บรรดาแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจควบคุมปริมาณเนื้อเเดงที่รับประทานให้น้อยลง รวมทั้งเนื้อสเต็กและเนื้อแกะ เนื่องจากไขมันและคอเลสเตอรอลในเนื้อแดงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด

แต่ทีมผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่าอาหารประเภทเนื้อแดงไม่ใช่ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจเพียงอย่างเดียว ทีมนักวิจัยที่ Cleveland Clinic ในรัฐ Ohio ค้นพบสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารคาร์นิทีน (carnitine) เมื่อสารเคมีตัวนี้ถูกย่อยโดยเชื้อเเบคทีเรียในลำใส้ จะผลิตสารอีกชนิดหนึ่งออกมาเรียกว่า สาร TMOA เป็นสารที่พบในปริมาณสูงในกลุ่มคนที่นิยมรับประทานเนื้อแดงและเชื่อว่าเป็นสารเคมีที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

คุณสจ็วต ไซเดซ เป็นผู้อำนวยการสถาบันหัวใจ MedStar Heart Institute ในกรุงวอชิงตัน เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าข้อมูลที่ว่ามีผลเสียจากเนื้อแดงนอกเหนือไป จากไขมันอิ่มตัวเป็นข้อมูลที่รู้กันมาพักใหญ่แล้ว แต่ผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่สามารถอธิบายข้อสงสัยนี้ให้ชัดเจนขึ้น

ทีมนักวิจัยที่ Cleveland Clinic ได้ทำการศึกษาสุขภาพของคนจำนวนมากกว่า 2,500 คนโดยวัดระดับสารคาร์นิทีนและสาร TMOA ในกระเเสเลือดหลังจากรับประทานเนื้อสเต็ก

ในการทดลอง ทีมนักวิจัยยังให้ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติและคนที่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งไข่และเนยแข็ง รับประทานสเต็กด้วย แล้วนำผลตรวจเลือดหาระดับสารเคมีในคนกลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับผลตรวจของคนที่รับประทานเนื้อแดงเป็นประจำ

นักวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่รับประทานเนื้อแดงเป็นประจำมีระดับสาร TMOA ในระดับสูงที่สุด ส่วนคนที่ปกติไม่รับประทานเนื้อแดง ไข่และเนยแข็งเลย มีระดับสารตัวนี้ในเลือดต่ำมากจนถึงไม่มีเลย นักวิจัยเชื่อว่านี่เป็นเพราะว่าคนกลุ่มหลังนี้ไม่มีเเบคทีเรียในลำใส้ที่ทำหน้าที่ย่อยสารคาร์นิทีนในเนื้อแดงให้กลายเป็นสาร TMOA

นอกเหนือไปจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษาสารเคมีตัวนี้ในหนูทดลองด้วย โดยพบว่าหนูทดลองที่กินอาหารที่มีสาร TMOA ผสมอยู่ในปริมาณสูงเริ่มมีอาการเส้นเลือดอุดตัน และเมื่อทีมนักวิจัยทดลองกำจัดแบคทีเรียในลำใส้ของหนูที่ทำหน้าที่ย่อยสารคาร์นิทีนให้เป็นสาร TMOA หนูทดลองเริ่มหายจากอาการเส้นเลือดอุดตัน

คุณสต็วจ ไซเดซ ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจเมดสตาร์กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่านี่หมายความว่าในวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะสามารถควบคุมโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อแบคทีเรียในลำใส้ แม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแบคทีเรียตัวใหน เมื่อไม่มีแบคทีเรียในลำใส้ ร่างกายก็ไม่สามารถย่อยสารคาร์นิทีนให้กลายเป็นสาร TMOA ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ

เขากล่าวว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจและจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบแก่คำถามต่างๆมากมายเกี่ยวกับโรคหัวใจ

สารคาร์นิทีนพบในปริมาณต่ำในเนื้อปลาและเนื้อไก่ และยังพบในผักบางชนิดและข้าวสาลี ตลอดจนในคนที่รับประทานเม็ดอาหารเสริม คุณไซเดซ กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะเเนะนำให้คนหลีกเลี่ยงอาหารอื่นๆที่มีสารคาร์นิทีนนอกเหนือไปจากเนื้อแดง

คุณผู้ฟังสามารถอ่านรายงานเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในวารสาร Nature