ทีมนักวิจัยชี้ว่าการบำบัดวัณโรคดื้อยานานเก้าเดือนได้ผลดีเท่ากับการบำบัดนาน 1-2 ปี

  • Joe Capua

MDR-TB

ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าการบำบัดวัณโรคแบบที่ใช้เวลาสั้นกว่าและสร้างความเจ็บปวดแก่คนไข้น้อยกว่ามีประสิทธิผลเท่ากับการบำบัดที่นาน 1-2 ปี

Your browser doesn’t support HTML5

MDR TB Treatment

องค์การอนามัยโลกประมาณว่ามีคนป่วยด้วยวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนานหรือ MDR-TB เมื่อปีที่แล้วเกือบครึ่งล้านคน ผู้เชี่ยวชาญจะถือว่าเป็นวัณโรคดื้อยาหากใช้ยาบำบัดอย่างน้อยสองในสามชนิดแล้วไม่ได้ผล

คุณ I.D. Rusen รองประธานอาวุโสด้านการวิจัยและพัฒนาแห่ง International Union Against Tuberculosis and Lung Disease หรือเรียกสั้นๆ ว่า The Union กล่าวว่าจำนวนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาไม่ได้เป็นตัวแสดงภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเพียงไม่กี่รายที่ได้รับการบำบัด

หากมีผู้ป่วยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขผู้ป่วยทั้งหมดที่ประมาณกันได้รับการบำบัด สถานการณ์จริงของโรคน่าจะเลวร้ายกว่าที่คิดกัน เพราะแสดงว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับการบำบัด

คุณ Rusen กล่าวว่าการบำบัดวัณโรคดื้อยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันใช้เวลายาวนานมาก สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย และมีผลข้างเคียงต่อร่างกายสูง เขากล่าวว่าไม่ได้กล่าวเกินความเป็นจริง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัดนานอย่างต่ำ 18 เดือนหากพบว่าเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน เขากล่าวว่าในการบำบัดช่วงแรก ผู้ป่วยต้องรับการรักษาเป็นประจำทุกวัน มีการฉีดยาทุกวัน การฉีดยานี้เจ็บมากและตัวยายังมีผลข้างเคียงรุนแรงหลายอย่างต่อร่างกายรวมทั้งอาจทำให้หูพิการอย่างถาวร

เรื่องนี้ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากยุติการบำบัดกลางคัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นจากการวิจัยสองชิ้นชี้ว่าการบำบัดวัณโรคดื้อยาที่ใช้กันอยู่นี้อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป คุณ Rusen แห่ง The Union เท่าความถึงที่มาของการวิจัยชิ้นแรก

เขากล่าวว่าการสรุปข้างต้นนี้มาจากผลการศึกษาโครงการนำร่องในบังคลาเทศที่เริ่มต้นเมื่อหลายปีที่แล้วโดยทำการบำบัดผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเป็นเวลานาน 9 เดือนแทนการรักษาที่นานสองปี ระยะเวลารักษาที่สั้นกว่าได้ผลดีกว่าเพราะผู้ป่วยมีโอกาสสูงขึ้นที่จะรักษาตนเองจนครบตามกำหนด

โครงการทดลองรักษาแบบนำร่องครั้งนั้นได้นำไปสู่การวิจัยเพิ่มเติมอีกชิ้นหนึ่งที่เสนอ ผลการศึกษาเบื้องต้นในที่ประชุมว่าด้วยสุขภาพปอดระดับโลกที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปนไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการศึกษาโดย The Union ทำการศึกษาผลการทดลองรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานในแอฟริกาตะวันตกจำนวนหนึ่งพันคน

เขากล่าวว่าการบำบัดวัณโรคดื้อยาแบบนานเก้าเดือนใช้ตัวยารักษาคนละตัวกับการรักษาแบบนาน 24 เดือน แต่ยังเป็นยารักษาวัณโรคที่มีใช้กันอยู่แล้ว ไม่ใช่ยาตัวใหม่เพียงแต่เป็นยาที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะได้ผลในการบำบัดผู้ป่วยวัณโรคและคนไม่นิยมเลือกใช้ แต่คุณ Rusen กล่าวว่ายาตัวนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยและรับประทานได้ง่ายกว่า เขากล่าวว่าการบำบัดที่ทดลองอยู่นี้มีประสิทธิผลสูงกว่าเพราะคนไข้สามารถอดทนต่อการรักษาได้จนการบำบัดลุล่วง

คุณ Rusen กล่าวว่าหากผลการวิจัยยืนยันผลการศึกษาเบื้องต้นนี้ อัตราความสำเร็จการการบำบัดวัณโรคดื้อยาหลายขนานอาจจะสูงขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 80-90 เปอร์เซ็นต์