Your browser doesn’t support HTML5
หลังเหตุการณ์ยิงกราดสังหารเหยื่อรวมกว่า 30 รายช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในรัฐโอไฮโอและเท็กซัส เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวางต่อปัญหาความรุนแรงในอเมริกา
และเนื่องจาก การยิงที่เมืองเอล ปาโซรัฐเท็กซัส ถูกระบุว่าเป็น การก่อการร้ายในประเทศ หรือ 'domestic terrorism' เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เชี่ยวชาญจึงมุ่งความพยายามในการป้องกันและจัดการกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
คำว่า 'domestic terrorism' ถูกตีความโดยสรุป ในกฎหมายอเมริกัน ว่าเป็น "การกระทำที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯ ที่ประกอบด้วยการกระทำที่เป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์ และเเสดงให้เห็นว่าอาจข่มขู่ หรือกดขี่บังคับกลุ่มประชากรพลเรือน เพื่อหวังผลทางนโยบาย และอาจรวมถึงการลอบสังหาร และการลักพาตัว"
คำนิยามข้างต้นนี้อยู่ในกฎหมาย Patriot Act ของสหรัฐฯ ที่ผ่านสภาเมื่อ 18 ปีก่อน หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือ 9/11
การก่อเหตุในอนาคตอาจได้แรงบันดาลใจจากโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุด
เจ้าหน้าที่แห่งหน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอออกเเถลงการณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ระบุว่า เอฟบีไอกังวลว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด อาจเป็นเครื่องกระตุ้นในเกิดพฤติกรรมอันตรายขึ้นอีกในอนาคต
ตามสถิติขององค์กร New America ตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 จนถึงปัจจุบัน ผู้ก่อการร้าย ที่ถูกผลักดันโดยความคิดขวาจัด ได้สังหารเหยื่อในอเมริกาไปแล้ว 109 ราย มากกว่า เหยื่อ 104 คนที่ถูกปลิดชีพโดยผู้ก่อการร้ายชาวอเมริกันที่โยงใยกับกลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ
ทั้งนี้กลุ่มความคิดขวาจัด ประกอบด้วย กลุ่มที่เชื่อว่าอารยธรรมของคนผิวขาวอยู่เหนือกลุ่มชาชาติอื่น กลุ่มต่อต้านการปกครองภายใต้รัฐบาล และกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง เป็นต้น
กลุ่มความคิดสุดโต่งฟื้นตัวขึ้นในยุคปัจจุบัน
อาจารย์ เเรนดัล เบอร์เกน จากมหาวิทยาลัย Wake Forest ในรัฐนอร์ธแคโรไลนาของสหรัฐฯ กล่าวว่า 'domestic terrorism' กำลังมีความเกี่ยวโยงมากขึ้นกับกลุ่มความคิดสุดโต่งที่ฟื้นตัวขึ้นในยุคปัจจุบัน เช่นลัทธิคลั่งคนผิวขาว
เขากล่าวว่า แม้มีความรุนแรงที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มหัวรุนแรงซ้ายจัด แต่ระดับความถี่น้อยกว่ากลุ่มแรกมาก
นายแอนดริว แม็คเคบ อดีตรักษาการผู้อำนวยการเอฟบีไอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อซีเอ็นเอ็นในวันจันทร์ว่า มีความเกี่ยวโยงที่น่าตระหนกระหว่าง การก่อการร้ายในประเทศ บนแผ่นดินสหรัฐฯกับ 'domestic terrorism' ในประเทศอื่น
ทัศนะของเขาถูกสะท้อนในข้อมูลที่ว่า มือปืนที่ก่อเหตุในรัฐเท็กซัสครั้งล่าสุด กล่าวถึง การสังหารเหยื่อชาวมุสลิมในประเทศนิวซีเเลนด์ เมื่อเดือนมีนาคม ในข้อเขียนเปิดใจความยาว 4 หน้าที่บันทึกไว้บนอินเตอร์เน็ต
การปราบปรามต้องอ้างอิงโทษจากกฎหมายอื่น
นายเเม็คเคบกล่าวว่า ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์โดยคนที่มีความคิดเหมือนกันเหล่านี้จะยิ่งทำให้ปัญหายำ่แย่ลง เหมือนการ "เติมนำ้มันให้กับกองเพลิง"
ปีเตอร์ เบอร์เกน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติและรองกรรมการบริหารหน่วยงานด้านนโยบาย New America ระบุว่าความท้าทายของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมายเเต่คือการปราบปรามในระดับปฏิบัติ
กล่าวคือ แม้กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีการบัญญัติความหมายของ 'domestic terrorism' แต่ไม่มีการระบุถึงโทษของ 'การก่อการร้ายในประเทศ'
ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้เครื่องมมือจากกฎหมายอื่นเเทน เช่นกฎหมายที่ว่าด้วยความรุนเเรงจากปืน อาชญากรรมการความเกลียดชัง และการสมคบคิดก่อเหตุร้าย เป็นต้น
ปีเตอร์ เบอร์เกนกล่าวว่า ในอเมริกา การสนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลามเป็นความผิดอาญา เพราะกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่า ไอเอสเป็นองค์กรก่อการร้าย
เเต่การเป็นสมาชิกกลุ่ม นีโอนาซี ไม่ผิดกฎหมายอาญา เพราะถือเป็นรูปแบบหนึ่งการแสดงออกทางความคิดเห็น ที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศ