เหยื่อยุคเผด็จการมาร์กอส สกัดทางชิงตำแหน่งผู้นำของ 'มาร์กอส จูเนียร์'

FILE - A protester holds a photo bearing the photos of the late dictator's son, Ferdinand Marcos Jr., left, and Davao city Mayor Sara Duterte during a protest outside the Commission on Human Rights in Quezon city, Philippines, Nov. 14, 2021.

เหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงการปกครองในยุคอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ พยายามขัดขวางการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายของเขา โดยพยายามทำให้เขาขาดคุณสมบัติก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม

เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” มีคะแนนนำในผลสำรวจความเห็นหลายสำนัก โดยเขาลงแข่งศึกเลือกตั้งพร้อม ซารา ดูเตรเต้ บุตรสาวของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตรเต้ ที่ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับเขา

เหยื่อในยุคเผด็จการมาร์กอสยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคำร้องเหล่านี้ขอให้ทางคณะกรรมการยกเลิกการอนุมัติลงแข่งเลือกตั้งของมาร์กอส หรือทำให้เขาขาดคุณสมบัติเนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญาด้วยข้อหาไม่ยื่นภาษีรายได้เมื่อปีค.ศ. 1997

คำร้องแรกถูกยื่นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองและเหยื่อในยุคของมาร์กอสผู้พ่อ ก่อนที่กลุ่มอื่นๆ จะยื่นคำร้องตามมา โดยคำร้องเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มาร์กอสคนลูกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้

ทั้งนี้ มีผู้ถูกสังหาร ทรมาน หรือสูญหายหลายพันคนในช่วงการปกครองของมาร์กอสผู้พ่อเมื่อทศวรรษที่ 1980 ในขณะที่ตระกูลมาร์กอสมีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์

เมื่อปีค.ศ. 1995 คณะลูกขุนสหรัฐฯ ในรัฐฮาวาย ตัดสินว่า มาร์กอสผู้พ่อมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์

FILE- Ferdinand 'Bongbong' Marcos Jr., center, waves to supporters after filing his certificate of candidacy for next year's presidential elections Oct. 6, 2021, in Manila, Philippines.

กฎหมายเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ระบุว่า ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดอาชญากรรมที่ขัดกับศีลธรรมจะถูกตัดสิทธิ์จากตำแหน่งของรัฐ โดยผู้ยื่นคำร้องเห็นว่า การไม่จ่ายภาษีเงินได้เข้าข่ายความผิดดังกล่าว

ขณะที่คำร้องอื่นๆ ขอให้มาร์กอสคนลูกถูกตัดสิทธิ์ โดยอ้างกฎหมายภาษีของฟิลิปปินส์ที่ห้ามผู้ที่มีความผิดฐานฉ้อโกงภาษีรับตำแหน่งของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่บังคับใช้โดยมาร์กอสผู้พ่อและยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน

ทีมงานของมาร์กอสไม่ตอบคำขอความเห็นจากทางวีโอเอ แต่โฆษก วิคเตอร์ โรดริกูเอซ กล่าวหลายครั้งว่า คำร้องเหล่านี้ “น่ารำคาญ”

ผลสำรวจความเห็นล่าสุดระบุว่า มาร์กอส จูเนียร์ มีคะแนนนิยมนำอยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คู่แข่งอย่างรองประธานาธิบดีเลนิ โรเบรโด มีคะแนนตามหลังอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม มาร์กอส จูเนียร์ เคยพ่ายแพ้ให้กับโรเบรโดในศึกชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปีค.ศ. 2016

ผู้ยื่นคำร้องยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ยื่นคำร้องเพราะเห็นว่ามาร์กอสมีผลสำรวจความนิยมที่ดี แต่พวกเขายื่นคำร้องเพราะไม่ต้องการให้ตระกูลมาร์กอสได้รับสิทธิพิเศษทางกฎหมาย

ทั้งนี้ มาร์กอส จูเนียร์ เคยลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ผู้ว่าการจังหวัด, วุฒิสมาชิก และรองประธานาธิบดี โดยไม่เคยถูกยื่นเรื่องคัดค้านมาก่อน โดยผู้ยื่นคำร้องระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งควรทำหน้าที่ของตนก่อนหน้านี้ และควรตัดสิทธิ์มาร์กอสตั้งแต่เขาลงเลือกตั้งครั้งแรกหลังถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาไม่จ่ายภาษีเงินได้แล้ว