ศาลสูงมาเลเซียฟันกฎหมายอิสลามหลายข้อขัดรัฐธรรมนูญ

ผู้หญิงมุสลิมขณะรวมตัวประท้วงที่หน้าพระราชวังแห่งความยุติธรรม (Palace of Justice) ในเมืองปูตราจายา ในวันที่ศาลสูงอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามในรัฐกลันตัน เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2024 (ที่มา: Reuters)

ศาลสูงมาเลเซียมีคำวินิจฉัยในวันศุกร์ ให้กฎหมายอิสลามของรัฐกลันตัน 16 ข้อ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ถือเป็นคำตัดสินหมุดหมายที่อาจมีผลต่อการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศที่ชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ตามการรายงานของรอยเตอร์

ศาลสูงมีมติ 8-1 ประกาศให้กฎหมายชารีอะห์ 16 ข้อในประมวลกฎหมายอาญาของรัฐกลันตัน ซึ่งรวมถึงความผิดว่าด้วยการร่วมเพศทางทวารหนัก การมีเพศสัมพันธ์กันในเครือญาติ การพนัน การล่วงละเมิดทางเพศ และการลบหลู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ถูกต้องและมีสภาพเป็นโมฆะ

ประธานศาลสูง เติงกู มัยมุน ตวน มาท กล่าวว่ารัฐกลันตันไม่มีอำนาจออกกฎหมายข้างต้น เนื่องจากประเด็นข้างต้นอยู่ภายใต้อำนาจการออกกกฎหมายของรัฐสภาส่วนกลาง

มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีการบังคับใช้กฎหมายทั้งในแบบรัฐฆราวาสและกฎหมายอิสลาม หรือที่เรียกกันในชื่อกฎหมายชารีอะห์ โดยสภาของรัฐจะเป็นผู้ออกกฎหมายอิสลาม ส่วนรัฐสภาส่วนกลางของมาเลเซียจะเป็นผู้ออกกฎหมายในแบบรัฐฆราวาส

รัฐกลันตันอยู่ติดกับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และปกครองโดยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Islamic Party of Malaysia - PAS) ที่สนับสนุนการตีความกฎหมายอิสลามแบบเคร่งครัด

ที่ผ่านมาพรรค PAS ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากกระแสอนุรักษ์นิยมอิสลามในหมู่ประชาชนชาวมาเลย์มุสลิม โดยพรรค PAS มีที่นั่งในรัฐสภาเป็นจำนวนมากกว่าพรรคอื่น และถือเป็นความท้าทายให้กับนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งกำลังนำกลุ่มรัฐบาลที่มีหลายเชื้อชาติ

คำวินิจฉัยของศาลสูงครั้งนี้เกิดจากการการร้องเรียนโดยทนายความในรัฐกลันตันและลูกสาวของเธอ หลังมีการบังคับใช้กฎหมายในปี 2021 ซึ่งส่งผลสะเทือนไปยังกลุ่มอนุรักษ์นิยมมุสลิม ที่กลัวว่ากฎหมายชารีอะห์ในมาเลเซียจะถูกบ่อนทำลายลง

อาคารศาลในเมืองปูตราจายา ซึ่งเป็นสถานที่อ่านคำพิพากษา ถูกคุ้มกั้นอย่างหนาแน่น โดยมีผู้ชุมนุมราว 1,000 คนรวมตัวกันเพื่อประท้วงคำพิพากษา โดยผู้ชุมนุมมีการสวดภาวนาและตะโกนว่า “พระเจ้าคือผู้ยิ่งใหญ่”

เติงกู มัยมุน ประธานศาลสูง ระบุว่าการตัดสินครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งแห่งที่ของศาสนาอิสลามในมาเลเซีย ประเด็นพิจารณาในครั้งนี้มีเพียงแค่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐกลันตันใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่

หลังคำวินิจฉัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนา โมฮัมหมัด นาอิม มอคห์ตาร์ ระบุในแถลงการณ์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐด้านศาสนาอิสลาม จะมีมาตรการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ศาลชารีอะห์ และระบุว่าฝ่ายตุลาการของศาสนาอิสลามยังคงได้รับความคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญของมาเลเซีย

โมฮัมเหม็ด ฟัสลี ฮัซซัน ซึ่งสังกัดอยู่ในรัฐบาลรัฐกลันตัน ออกมาแสดงความผิดหวังต่อคำตัดสินของศาล และระบุว่าจะขอเข้าปรึกษากับสุลต่านมูฮัมหมัดที่ 5 แห่งรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นผู้นำแห่งรัฐโดยตำแหน่ง และมีหน้าที่พิทักษ์ศาสนาอิสลาม

นิค อาห์หมัด คามาล นิก มาห์โมด ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทย์เลอร์ กล่าวในวันศุกร์ว่าคำตัดสินของศาลสูง อาจเป็นความท้าทายไปยังกฎหมายชารีอะห์ในรัฐอื่น ๆ และเสนอว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเลเซียเพื่อเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกฎหมายอิสลามและระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil laws)

  • ที่มา: รอยเตอร์