มาเลเซีย หนุนฝึกอบรมพนักงานส่งอาหาร ช่วยลดอุบัติเหตุ

Food delivery rider waits at a traffic junction in front of Twin Towers to deliver food during the movement control order due to the outbreak of the coronavirus disease (COVID-19) in Kuala Lumpur, Malaysia, on Friday, May 1, 2020. Malaysia will…

ในมาเลเซีย การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสทำให้การสั่งอาหารไปส่งตามบ้านมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่การเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงานขับรถส่งอาหาร

Your browser doesn’t support HTML5

Malaysia Delivery


บริการส่งอาหารตามบ้านทำให้ชีวิตของคนหลายๆ คนง่ายขึ้น มาเลเซียก็เหมือนกับหลายๆ ประเทศที่มีความต้องการบริการด้านนี้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการส่งอาหารตามบ้านส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์

แต่ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพนักงานส่งอาหาร

เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันวิจัยความปลอดภัยบนท้องถนนของมาเลเซีย ได้ทำการศึกษาทางสี่แยก 11 แห่งเป็นเวลา 4 วัน จากการสังเกตผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารจำนวนเกือบ 3,500 คน พบว่าราว 2 ใน 3 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และราว 1 ใน 3 ในนั้นละเมิดกฎจราจรด้านความปลอดภัยอย่างร้ายแรง ซึ่งรวมไปถึงการถือโทรศัพท์ไว้ในมือ การละเมิดสัญญาณไฟจราจร กลับรถในที่ห้ามกลับรถ และขับรถย้อนศร

Khairil Anwar จากสถาบันวิจัยด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของมาเลเซียกล่าวว่า การที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารมีพฤติกรรมเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เนื่องจากพวกเขาต้องการที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายไปในแต่ละวัน

ปกติแล้ว บรรดาคนขับรถส่งอาหารมักจะเป็นผู้ที่ทำอาชีพอิสระ และใช้พาหนะคือจักรยานยนต์คู่ใจของตัวเอง ยิ่งส่งอาหารมากเท่าไหร่พวกเขาก็จะมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น จึงทำให้มีแรงจูงใจที่จะขับรถให้เร็วขึ้นหรือฝ่าฝืนกฏจราจรได้

Amirul Rashid ขับรถส่งอาหารมาประมาณ 1 ปีแล้ว เขายอมรับว่า พนักงานขับรถส่งอาหารจำนวนมากไม่มีความระมัดระวังเพียงพอ แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าคนส่งอาหารมักจะรู้สึกกดดันที่ต้องรีบเร่งจากข้อความที่ได้รับจากลูกค้าซึ่งต้องการให้ไปส่งอาหารอย่างเร่งด่วน

บริษัทให้บริการส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งในมาเลเซีย คือ Grab และ Foodpanda ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ในประเด็นนี้

สถาบันความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ รวมถึงบริษัทอื่นๆ จำเป็นต้องฝึกอบรมพนักงานส่งอาหารเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นในเรื่องความปลอดภัย

Anwar จากสถาบันวิจัยด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวด้วยว่า จำเป็นที่จะต้องมีการปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการจัดส่ง หรือสินค้าเท่านั้น แต่ยังต้องมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ส่งเสริมด้านความปลอดภัยอีกด้วย

ทางสถาบันได้พัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยบนท้องถนน และได้พูดคุยกับทั้งบริษัท Grab และ Foodpanda เกี่ยวกับเรื่องนี้

Mohd Zulfadzli Sham พนักงานส่งอาหารผู้หนึ่งกล่าวว่า ความปลอดภัยเป็นที่สิ่งสำคัญสำหรับคนขับรถส่งอาหารทุกคน

ส่วนนายราชิด Amirul Rashid กล่าวว่า การมีโครงการฝึกอบรมนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะมี เพื่อให้ผู้ขับขี่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามบรรดาพนักงานขับรถส่งอาหาร ต่างยอมรับว่า ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับการฝึกอบรมมากแค่ไหนก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับตัวพวกเขาเองที่ต้องจะคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าการใช้ความเร็วความไวเพื่อส่งอาหารให้ทันใจลูกค้า