มาเลเซียเปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า อาจจะหยุดการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อตอบโต้กฎหมายใหม่ของกลุ่มที่มุ่งปกป้องผืนป่าด้วยการจำกัดธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ฟาดิลเลาะห์ ยูซอฟ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียและอินโดนีเซียจะหารือเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ของอียู ซึ่งสั่งห้ามการจำหน่ายน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำเข้าสามารถแสดงหลักฐานว่า กระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการทำลายผืนป่า
อียู คือ ผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่รายหนึ่งของโลก และการผ่านกฎหมายใหม่ออกมาในเดือนธันวาคมทำให้เกิดเสียงร้องไม่พอใจจากทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มชั้นนำของโลกทันที
รมต.ฟาดิลเลาะห์ กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า “ถ้าเราต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อดำเนินการโต้กลับอะไรก็ตามที่อียูทำอยู่ เราก็จะทำ” และว่า “หรือไม่ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ เราแค่หยุดส่งออกไปยุโรป และมุ่งสนใจประเทศอื่น ๆ ถ้าพวกเขา (อียู) จะทำให้เราต้องมีปัญหาในการส่งออกไปให้พวกเขา”
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวโทษอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มว่า เป็นต้นเหตุของการถางป่าฝนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียจะจัดทำมาตรฐานการรับรองความยั่งยืนและบังคับใช้กับไร่สวนทุกแห่งแล้วก็ตาม
รมต.ฟาดิลเลาะห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย ยังเรียกร้องให้สมาชิกสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (Council of Palm Oil Producing Countries – CPOPC) ที่มีมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้นำกลุ่มอยู่ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อต้านกฎหมายใหม่ของอียู และจัดการกับ “คำกล่าวหาอันไร้มูล” จากทั้งอียูและสหรัฐฯ เกี่ยวกับความยั่งยืนของน้ำมันปาล์มด้วย
ขณะเดียวกัน มิคาลิส โรคาส ทูตอียูประจำมาเลเซีย กล่าวว่า อียูไม่ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและปฏิเสธว่า กฎหมายต้านการตัดไม้ทำลายป่านี้จะนำมาซึ่งการกีดกันการส่งออกต่อมาเลเซีย
รายงานข่าวระบุว่า มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันปาล์มของอียูน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือก่อนเป้าหมายที่กฎหมายฉบับใหม่นี้กำหนดไว้เสียอีก
เมื่อปี ค.ศ. 2018 อียูได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลดการใช้เชื้อเพลิงสำหรับระบบขนส่งที่มาจากน้ำมันปาล์มให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 เนื่องจากน้ำมันดังกล่าวมีส่วนทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า
ในเรื่องนี้ อินโดนีเซียและมาเลเซียต่างยื่นเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยอ้างว่า มาตรการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงน้ำมันปาล์มเป็นการเลือกปฏิบัติและนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้า
และในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซียและนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ตกลงที่จะ “ร่วมต่อสู้การเลือกปฏิบัติต่อน้ำมันปาล์ม” และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านความร่วมมือผ่านกลุ่ม CPOPC แล้ว
ข้อมูลจาก Malaysian Palm Oil Board ระบุว่า อียู คือ ผู้บริโภคน้ำมันปาล์มที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และเป็นลูกค้านำเข้าน้ำมันปาล์มสัดส่วน 9.4% ของผลผลิตรวมของมาเลเซียในปี ค.ศ. 2022 ด้วยปริมาณการนำเข้า 1.47 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดจากระดับ 10.5% ในปีก่อนหน้า
- ที่มา: รอยเตอร์