Your browser doesn’t support HTML5
การศึกษาครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่ามาเลเซียสามารถพัฒนาประเทศจนทำให้ผู้คนมีห้องน้ำใช้กันเพิ่มมากขึ้น และยังมีสุขอนามัยที่ปลอดภัยเกือบ 100% หลังจากการลองผิดลองถูกมากมาย ประสบการณ์เหล่านี้ได้กลายเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทุกหนทุกแห่งต่างมีความกังวลมากขึ้นว่าตนจะสามารถจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาวได้ดีเพียงใด
Dorai Narayana นักเขียนผู้หนึ่งเขียนเอาไว้ในหนังสือของเขาว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาประชากรมาเลเซียมีน้ำใช้กันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน
มาเลเซียซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษมาจนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1957 ในอดีตมักจะเห็นชาวเมืองมักใช้การขับถ่ายในถัง หรือในที่เปิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดต่อที่มาจากน้ำ
อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสุขาภิบาลมากขึ้น จึงมีการแนะนำถังบำบัดน้ำเสียและแหล่งน้ำประปาให้แก่ประชาชน
จากนั้นรัฐบาลมาเลเซียจึงเข้ามารับผิดชอบต่อในปีค.ศ. 1993 ในขณะที่ประเทศเริ่มเจริญขึ้นและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้ควบคุมในส่วนภาครัฐบาลไว้ แต่ก็อนุญาตให้บริษัทเอกชนอื่น ๆ ให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยมีการกำหนดแนวทางและมาตรฐาน ตลอดจนระบบตรวจสอบและอนุมัติท่อระบายน้ำทิ้งใหม่ทั้งหมดที่บริษัทเอกชนเป็นผู้สร้างขึ้น ส่งผลให้มีการปรับปรุงคุณภาพครั้งใหญ่
Dorai Narayana ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการสุขาภิบาลและน้ำเสีย ได้เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับมาเลเซียไว้ในหนังสือเรื่องความไม่ปลอดภัยทางน้ำและการสุขาภิบาลในเอเชีย ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วโดยสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank Institute) และโรงเรียนนโยบายสาธารณะ Lee Kuan Yew แห่งมหาวิทยาลัยสิงคโปร์
มาเลเซียได้เปลี่ยนจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศเศรษฐกิจรายได้ระดับปานกลางระดับสูงอย่างรวดเร็ว โดยใช้ความมั่งมีนี้ไปลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างเช่น การสุขาภิบาล
อย่างไรก็ดี มาเลเซียได้ลดหย่อนอำนาจบางอย่างเพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนพัฒนาระบบสุขาภิบาลได้
Narayana ระบุด้วยว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างสหพันธรัฐและภาคเอกชน จึงทำให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาที่น่าทึ่งในการจัดการระบบน้ำเสียของมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีกองทุนมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่ถูกนำไปลงทุนเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงและยกระดับโรงบำบัดน้ำเสียที่ทรุดโทรม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนของภาคเอกชน เช่น เมื่อทางรัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัท Indah Water ขายบริการให้แก่ประชาชน บริษัทจะต้องล้างถังบำบัดน้ำเสียตามกำหนดเวลาปกติและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มีสภาพการที่ใช้งานได้
นอกจากนี้หากมีการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ จะต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานการระบายน้ำทิ้งภายในด้วยเช่นเดียวกัน